จับตาสภาฯ ถกร่างกม.ประชามติ พรุ่งนี้ เพิ่มเงื่อนไขเกณฑ์ผ่านประชามติเสียงข้างมาก

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันพรุ่งนี้ (21 ส.ค.) จะมีวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ) เป็นการพิจารณาลงมติรายมาตราในวาระสอง วาระสาม ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ที่มีนายวุฒิสาร ตันไชย เป็นประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ได้พิจารณาแล้วเสร็จ ทั้งนี้ มี สส.ที่เสนอคำแปรญัตติ 1 คน คือ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน

ขณะนี้สาระของการแก้ไขเนื้อหา กมธ.มีการแก้ไขเนื้อหา 7 มาตรา จากร่างพ.ร.บ. ฉบับหลักที่เสนอ 9 มาตรา และมีเพิ่มขึ้นใหม่ 3 มาตรา

โดยมีสาระสำคัญที่แก้ไข คือ

1. การกำหนดเงื่อนไขเรื่องระยะเวลาการทำประชามติที่เป็นวันเดียวกันกับการเลือกตั้ง สส. เป็นการทั่วไป หรือการเลือกตั้งท้องถิ่นเนื่องจากครบวาระ ต้องไม่เร็วกว่า 60 วัน และไม่ช้ากว่า 150 วัน นับจากวันที่รับแจ้งจากประธานรัฐสภา

2. กรณีที่ประชาชน 50,000 ชื่อ จะยื่นเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)ให้พิจารณาทำประชามติ ได้เพิ่มรายละเอียดให้ สามารถทำผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้

3. เกณฑ์การผ่านประชามติ ที่กำหนดให้ใช้เกณฑ์เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง กมธ.ได้เพิ่มหลักเกณฑ์คือ นอกจากจะได้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงแล้ว ต้องเป็นคะแนนที่สูงกว่าคะแนนที่ไม่แสดงความคิด (งดออกเสียง) ในเรื่องที่ทำประชามตินั้น

ทั้งนี้ ในเกณฑ์ผ่านประชามติ ตามพ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ.2561 นั้นกำหนดให้ใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น คือต้องมีผู้มาใช้สิทธิ เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และเสียงเห็นชอบต้องเป็นกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ

ส่วนมาตราที่กมธ.เพิ่มใหม่นั้น พบความน่าสนใจ คือการกำหนดรายละเอียดให้เผยแพร่ และจัดทำข้อมูลนำเสนอต่อประชาชนก่อนการออกเสียงประชามติ ที่ต้องมุ่งหมายให้ประชาชนเข้าใจในรายละเอียดที่ถูกต้อง ไม่ชี้นำว่าให้ออกเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ

โดยกมธ.ได้เพิ่มข้อความ คือข้อห้ามให้ชี้นำให้มีการลงคะแนนออกเสียงทางใดทางหนึ่งกับเรื่องที่จะมีการออกเสียงนั้น” โดยเหตุผลที่เพิ่มข้อความ เพราะกมธ.ได้เพิ่มเกณฑ์ผ่านประชามติที่เติมเงื่อนไข คือ ต้องได้คะแนนที่สูงกว่าการไม่แสดงความคิดเห็น หรืองดออกเสียง ดังนั้น หากกำหนดข้อห้ามชี้นำ ให้เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ อาจไม่ครอบคลุมประเด็นที่เพิ่มเติม

นอกจากนั้นเป็นการกำหนดรายละเอียดในส่วนธุรการ เช่น กรณีที่กำหนดวันออกเสียงประชามติในวันเดียวกับวันเลือกตั้งสส. หรือเลือกตั้งท้องถิ่นให้ ครม. หารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อกำหนดค่าใช้จ่ายในการทำประชามติและการเลือกตั้ง กำหนดให้มีกรรมการประจำเขต ไม่เกิน 5 คน

ในประเด็นสำคัญว่าด้วยเกณฑ์ที่ใช้เป็นข้อยุติในเรื่องที่ออกเสียงประชามติ ซึ่งกมธ.ได้เติมหลักเกณฑ์นอกจากต้องได้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงแล้ว ยังกำหนดให้ต้องเป็นคะแนนที่สูงกว่าคะแนนที่ไม่แสดงความคิดในเรื่องที่ทำประชามติด้วย

อย่างไรก็ดี พบว่ามีกมธ.ที่สงวนความเห็น โดยพบว่าเป็นฝั่งของสส.ร่วมรัฐบาลเท่านั้น ซึ่งขอแก้ไขในข้อความเดียวกัน คือกำหนดเกณฑ์ผ่านประชามติ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิไม่ต่ำกว่า 1 ใน 4 ของผู้มีสิทธิออกเสียง เพิ่มเติมจากการได้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง และคะแนนเสียงข้างมากต้องสูงกว่าคะแนนเสียงที่ไม่แสดงความคิดเห็นในเรื่องทำประชามติ

สำหรับในรายละเอียดของการพิจารณานั้น ต้องจับตาการแปรญัตติเพิ่มเติมของ สส.พรรคประชาชน อาทิ แก้ไขคุณสมบัติผู้มีสิทธิออกเสียงและมีหน้าที่ไปใช้สิทธิออกเสียงอย่างอิสระ ที่ให้เพิ่มบุคคลที่มีอาศัย ทำงาน หรือศึกษา อยู่ในเขตออกเสียงมาแล้วติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปี นับถึงวันออกเสียงจากเดิมที่กำหนดให้เฉพาะผู้ที่มีชื่อในทะเบียนบ้านในเขตออกเสียงมาแล้วไม่น้อยกว่า 90 วันนับจากวันออกเสียง

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ส.ค. 67)

Tags: , , , , , ,
Back to Top