BAY คาดกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 34.30-35.00 จับตาสัญญาณเฟด-กนง.

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ประเมินการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มอยู่ในกรอบ 34.30-35.00 บาท/ดอลลาร์ โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 35.03 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 34.84-35.19 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 7 เดือน และปรับตัวผันผวนตามสถานการณ์การเมืองในประเทศ รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

ขณะที่เงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ ยกเว้นเงินเยนและเงินฟรังก์สวิส ในสัปดาห์ที่ผ่านมาท่ามกลางบรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่ฟื้นตัวขึ้น หลังสหรัฐฯ รายงานดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนก.ค.เพิ่มขึ้น 2.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งต่ำกว่าคาด โดยเป็นผลของราคาในภาคบริการที่ร่วงลง ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนก.ค.ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 2.9% และดัชนี CPI พื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงานปรับขึ้น 3.2% ซึ่งน้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย.64 และใกล้เคียงกับการคาดการณ์ของนักลงทุน

อย่างไรก็ตาม ยอดค้าปลีกเดือนก.ค.ของสหรัฐฯ สดใสเกินคาดและยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงผิดคาดทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ พุ่งขึ้น ขณะที่ตลาดคลายความวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นไทยสุทธิ 430 ล้านบาท แต่ขายพันธบัตร 27,923 ล้านบาท

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ มองสถานการณ์ตลาดในสัปดาห์นี้ว่า นักลงทุนจะติดตามงานสัมมนาเชิงวิชาการที่เมือง Jackson Hole ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เป็นเจ้าภาพ และมักใช้เป็นเวทีส่งสัญญาณทิศทางนโยบาย โดยเฉพาะในรอบนี้ซึ่งวงจรดอกเบี้ยกำลังมาถึงจุดเปลี่ยน ทั้งนี้ ตลาดประเมินว่ามีโอกาสราว 27% ที่เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยลง 50bp สู่ 4.75-5.00% และมีโอกาส 73% ที่จะลดดอกเบี้ย 25bp สู่ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย.

อนึ่ง โดยปกติแล้วช่วงที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ภาวะชะลอตัว เรามักจะได้รับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ผสมผสานเกี่ยวกับระดับของการชะลอตัว ซึ่งจะเพิ่มความผันผวนให้กับตลาดการเงิน เราประเมินว่าบริบทแวดล้อมดังกล่าวจะจำกัดแรงขายเงินเยนจากระดับปัจจุบัน

สำหรับปัจจัยในประเทศ ตลาดจะให้ความสนใจกับรายงานข้อมูลจีดีพีไตรมาส 2 นอกจากนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ด้วยมติไม่เป็นเอกฉันท์ในการประชุมวันที่ 21 ส.ค. ขณะที่ในภาพรวมนักลงทุนจะยังรอความชัดเจนเรื่องทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ส.ค. 67)

Tags: , , , ,
Back to Top