สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปรับปรุงหลักเกณฑ์ด้านการบริหารกิจการ (governance) ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีกลไกการควบคุมดูแลการบริหารกิจการและการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับลักษณะและความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ พร้อมทั้งปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์ของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange rules) เพื่อให้ Exchange rules มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อให้มีกลไกคุ้มครองประโยชน์ของผู้ลงทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติเห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารกิจการ (governance) ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล รวมทั้งการปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับ Exchange rules โดย ก.ล.ต. ได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น (focus group) รวมทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็นเป็นการทั่วไปต่อหลักการและร่างประกาศที่เกี่ยวข้องแล้วนั้น ก.ล.ต. จึงออกประกาศเพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
(1) หลักเกณฑ์ด้านโครงสร้างการบริหารกิจการ (board governance) กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องมีกรรมการในคณะกรรมการบริษัท (board of director) ไม่น้อยกว่า 5 คน โดยกรรมการอย่างน้อย 2 คนต้องเป็นกรรมการอิสระ และต้องจัดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจมีโครงสร้างองค์กรที่มีการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างเหมาะสม คณะกรรมการบริษัทสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งคำนึงถึงประโยชน์ของลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจปัจจุบันต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ภายใน 180 วันนับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ
สำหรับผู้ประกอบธุรกิจประเภทที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจที่มีขนาดเล็กซึ่งมีการเก็บรักษาทรัพย์สินลูกค้าน้อยกว่า 500 ล้านบาท และมีจำนวนลูกค้า น้อยกว่า 10,000 ราย ได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์นี้
(2) หลักเกณฑ์ด้านคุณสมบัติของกรรมการผู้มีอำนาจและผู้จัดการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยกำหนดให้บุคคลในตำแหน่งดังกล่าวต้องมีประสบการณ์ทำงานด้านสินทรัพย์ดิจิทัลไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือผ่านการอบรมในหลักสูตรอบรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลตามรายชื่อหลักสูตรหรือลักษณะหลักสูตรที่ ก.ล.ต. กำหนด (https://publish.sec.or.th/nrs/10336s.pdf) และต้องผ่านการอบรมตามหลักสูตรการกำกับดูแลกิจการที่ดี ที่ ก.ล.ต. ยอมรับ ทั้งนี้ หากกรรมการผู้มีอำนาจและผู้จัดการปัจจุบันไม่เคยผ่านการอบรมหลักสูตรการกำกับดูแลกิจการที่ดีมาก่อนต้องเข้าอบรมหลักสูตรดังกล่าวภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ
(3) กำหนดหลักเกณฑ์ด้านระบบงานและมาตรฐานในการประกอบธุรกิจให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ได้แก่
– การจัดให้มีระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลการปฏิบัติงาน (check & balance) ทุกระบบที่สำคัญ
– การปรับปรุงหลักเกณฑ์ด้านระบบงานที่สามารถรองรับการประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และระบบงานในการติดต่อและให้บริการแก่ลูกค้า รวมถึงการทำความรู้จักตัวตนของลูกค้า (KYC) ที่สอดคล้องและเหมาะสมกับความเสี่ยงและความซับซ้อนของสินทรัพย์ดิจิทัล
– การแบ่งแยกหน่วยงานและบุคลากรที่ทำหน้าที่ดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้าออกจากการปฏิบัติงานด้านอื่น เพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และกำหนดระเบียบหรือวิธีปฏิบัติในการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้า รวมถึงมีข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้า
(4) กำหนดหลักการและมาตรฐานขั้นต่ำของ Exchange rules ไว้ในประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้แก่
– หลักเกณฑ์การคัดเลือกและเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัล (listing & delisting)
– หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และการชำระราคาและการส่งมอบสินทรัพย์ดิจิทัล (trading, clearing & settlement)
– หลักเกณฑ์ในการจัดให้มีผู้ดูแลสภาพคล่อง (market maker) (ถ้ามี)
นอกจากนี้ เพื่อให้หลักเกณฑ์การพิจารณาให้ความเห็นชอบ Exchange rules โดยสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นไปอย่างชัดเจน จะมีการกำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับ Exchange rules ภายใต้กรอบที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด
(5) กำหนดให้การให้ความเห็นชอบ Exchange rules ของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นอำนาจของสำนักงาน ก.ล.ต.
(6) กำหนดให้ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเปิดเผย Exchange rules ผ่านทางเว็บไซต์ทางการของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือช่องทางอื่นที่ผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงได้
ทั้งนี้ การออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ด้านการบริหารกิจการ (governance) ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์ของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange rules) ได้ลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ส.ค. 67)
Tags: Exchange rules, Governance, ก.ล.ต., สินทรัพย์ดิจิทัล