CFARM ส่งซิกจ่อปิดดีลขึ้นฟาร์มปศุสัตว์รูปแบบใหม่ ทยอยเปิดฟาร์มไก่เพิ่มโกยรายได้-กำไรปีหน้า

นางสาวมธุชา จึงธนสมบูรณ์ รองกรรมการผู้จัดการสายงานการจัดการ บมจ.ชูวิทย์ฟาร์ม (2019) (CFARM) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาโอกาสการลงทุนในธุรกิจปศุสัตว์รูปแบบใหม่ นอกเหนือจากการทำฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อให้กับคู่สัญญาในรูปแบบเกษตรพันธสัญญาแบบประกันราคา โดยเบื้องต้นเจรจากับพันธมิตรในรายละเอียดและข้อสรุปต่างๆ คาดว่าจะประกาศได้ภายในไตรมาส 4/67 และจะเริ่มดำเนินการได้ภายในปีหน้า

ขณะที่แผนการก่อสร้างฟาร์มเลี้ยงไก่เพิ่มเติมก็คาดว่าจะทยอยดำเนินการตามแผนงานที่เตรียมไว้ ควบคู่ไปกับการเจรจาเพื่อเข้าทำสัญญาจากผู้ประกอบการทั้งรายเดิมและรายใหม่เพิ่มเติม โดยบริษัทจะพิจารณาตามความต้องการของตลาดและสัญญาที่ให้กำไรกับบริษัทมากที่สุด

นางสาวมธุชา กล่าวว่า บริษัทเตรียมเพิ่มโรงเรือนและก่อสร้างฟาร์มใหม่ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ แต่ละฟาร์มจะมีงบลงทุนและขนาดต่างกันไป เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถสรุปและเริ่มสร้างตั้งแต่ไตรมาส 1/68 ซึ่งจะทำให้ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นเกือบ 2 ล้านตัว หรือประมาณ 17 ล้านตัวต่อปี จากเดิมอยู่ที่ 15.7 ล้านตัวต่อปี

สำหรับแผนการดำเนินงานครึ่งปีหลัง 67 ยังคงเป้าหมายมีรายได้รวมใกล้เคียงปี 66 โดยเป็นไปตามการบริโภคที่มีมากขึ้นโดยแต่ละปีก็มีการเติบโตเฉลี่ยประมาณ 3-4% จากเป็นโปรตีนที่มีราคาถูก และภาคส่งออกไก่ของไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งปัจจุบันกำลังขยับขึ้นเป็นอันดับ 3 ของโลก พร้อมทั้งความสามารถในการทำกำไรจะยืนสูงเมื่อเทียบกับปี 66 หลังบริหารต้นทุนโดยรวมได้ดี

โดยในไตรมาส 3/2567 แนวโน้มผลการดำเนินงานจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งมอบไก่ให้กับคู่สัญญาหลักยังเป็นไปตามมาตรฐาน และมีการบริหารจัดการที่ดีขึ้น ทั้งขั้นตอนการเลี้ยง ต้นทุน และค่าใช้จ่ายทุกภาค และช่วงไตรมาส 4/67 มองว่าจะดำเนินธุรกิจได้ดีตามแผน ดังนั้นภาพรวมผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังของปี 67 จะดีกว่าช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากผลการดำเนินงานโดยรวมดีขึ้น และปกติแล้วรอบการเลี้ยงมากกว่า(5 รอบปีต่อ หรือ 40-45 วันขาย)

“ในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ปี 67 บริษัทคาดว่าจะสามารถสร้างการเติบโตได้ แม้มีฐานการผลิตเท่าเดิม เนื่องจากมีอัตราการเลี้ยงรอดที่ดีกว่าเกณฑ์ 96% และน้ำหนักตัวไก่ดีกว่าที่ 2.8-3 กิโลกรัม (ตลาดเฉลี่ย 2.7-2.8 กก.) และอัตราการกินอาหารของไก่น้อยลงสวนทางน้ำหนักตัวไก่ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนอาหารลดลงด้วย และราคาขายที่สูงกว่าครึ่งปีแรก” นางสาวมธุชา กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ส.ค. 67)

Tags: , , , ,
Back to Top