ดับฝัน! ขยายสัมปทานแลกลดค่าผ่านทางโทลล์เวย์ ทล.ชี้ไม่คุ้ม

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า จากที่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม ได้มอบหมายให้กรมทางหลวง ศึกษาหาแนวทางในการปรับลดค่าผ่านทางทางยกระดับอุตราภิมุข หรือ ดอนเมืองโทลล์เวย์ เพื่อลดภาระของประชาชนหลังบมจ. ทางยกระดับดอนเมือง (DMT) ผู้รับสัมปทาน ประกาศปรับอัตราค่าผ่านทาง ตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค.67 ตามสัญญาสัมปทานนั้น

กรมทางหลวง จึงได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 67 เพื่อศึกษาแนวทางและความเป็นไปได้ โดยนำตัวเลขที่เกี่ยวข้องมาประเมินในทุกมิติ ทั้งกรณีไม่ขึ้นค่าผ่านทาง,กรณีลดค่าผ่านทางลง หรือกรณีขึ้นราคาตามสัญญา ว่าจะส่งต่อปริมาณจราจรที่ใช้บริการอย่างไร รวมถึงควรจะขยายอายุสัญญาออกไปกี่ปี จึงจะเหมาะสม ซึ่งคณะทำงานฯ ได้สรุปความเห็นว่าไม่ควรลดค่าผ่านทางแลกกับการขยายสัญญาออกไป เพราะตัวเลขที่ออกมาไม่คุ้มค่าและรายงานไปที่ กระทรวงคมนาคมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งรมว.คมนาคม ยังไม่ได้มีข้อสั่งการเพิ่มเติม

ส่วนที่ทาง สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ทำหนังสืออธิบดีกรมทางหลวง เพื่อขอรับทราบข้อเท็จจริง กรณีการแก้ไขสัญญาสัมปทานทางยกระดับดอนเมือง (ดอนเมืองโทลล์เวย์) กรมฯ จึงได้ชี้แจงข้อมูลดังกล่าวให้ทางป.ป.ช.ด้วย

“กรมทางหลวงยืนยันว่า เมื่อได้รับโจทย์จากกระทรวงคมนาคม ได้ตั้งคณะทำงานศึกษาความเหมาะสม และพิจารณาแล้วว่าไม่คุ้มค่าจึงยังไม่มีการเจรจาใดๆ กับเอกชน ซึ่งดอนเมืองโทลล์เวย์นั้น เป็นเส้นทางเลือกแก่ผู้ใช้รถ ส่วนถนนวิภาวดีรังสิต ที่เป็นถนนหลัก และฟรี หากไม่ใช่ช่วงเวลาเร่งด่วน ตั้งแต่ช่วงดินแดง-อนุสรณ์สถาน การจราจรก็ไม่ได้ติดขัดมากนัก”

ดังนั้น ในเดือนธ.ค. 67 นี้ จะมีการปรับค่าผ่านทางตามสัญญา ซึ่งเป็นการปรับในรอบระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า ระหว่างวันที่ 22 ธันวาคม 2567 เวลา 00.01 น. – 21 ธันวาคม 2572 โดยกำหนดอัตราค่าผ่านทาง ช่วงดินแดง-ดอนเมือง จากปัจจุบัน 80 บาท ขึ้นเป็น 90 บาท และช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน จาก 35 บาท ขึ้นเป็น 40 บาท ซึ่งทางบริษัทฯจะมีคูปองส่วนลดให้ ตรงนี้กรมทางหลวงอาจจะเจรจากับเอกชนเพื่อขอให้ส่วนลดเพิ่มอีกได้หรือไม่ เป็นต้น

สำหรับ แนวทางจากนี้ เป็นการบริหารสัญญาสัมปทานตามปกติ โดยสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลงในปี พ.ศ.2577 ซึ่งทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของกรมทางหลวง ขณะที่ ไม่มีการระบุในเงื่อนไขว่าก่อนหมดสัญญา เอกชนมีสิทธิ์ที่จะเสนอขอต่อสัญญาหรือกรมทางหลวงต้องเจรจากับทางบริษัทเป็นรายแรก

ขณะที่ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ก่อนหมดสัญญา 5 ปี หรือประมาณปี 2572 กรมทางหลวงจะศึกษาแนวทางในการดำเนินโครงการต่อ หลักการหากกรมทางหลวงดำเนินการเอง เป้ารายได้คือเพียงพอในการดูแลซ่อมบำรุง ซึ่งอาจจะต่ำมากๆ เพื่อให้ประช่าชนได้รับประโยชน์มากที่สุด หรือกรณีมีนโยบายจากรัฐบาลต้องการให้ใช้ทางฟรี ก็มีเป็นไปได้ โดยใช้งบประมาณมาซ่อมบำรุง เป็นต้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ส.ค. 67)

Tags: , , , , , ,
Back to Top