คกก.โรคติดต่อฯ สั่งเฝ้าระวังเข้ม “ฝีดาษลิง” หลัง WHO ประกาศภาวะฉุกเฉิน

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2567 กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบสถานการณ์โรคติดต่อที่สำคัญ โดยเฉพาะโรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง (Mpox) ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข หลังแอฟริกามีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 65 ประเทศไทยพบผู้ป่วยยืนยัน 827 ราย ขณะที่เฉพาะปี 67 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-3 ส.ค. พบผู้ป่วยยืนยัน 140 ราย ทุกรายเป็นสายพันธุ์ Clade ll ไม่ใช่สายพันธุ์ที่ระบาดในแอฟริกาที่ WHO ประกาศคือ Clade IB

อย่างไรก็ตาม ได้ให้กรมควบคุมโรควางมาตรการเฝ้าระวัง ดังนี้

1. ให้หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ เพิ่มการเฝ้าระวังผู้ที่อาจป่วยด้วยโรคฝีดาษลิง โดยใช้แนวทางเฝ้าระวัง แนวทางการวินิจฉัย และแนวทางการรักษาตามมาตรการ ในการดูแลโรคฝีดาษลิง

2. ให้ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ คัดกรองโรคฝีดาษลิงในผู้เดินทางที่มีความเสี่ยงที่มาจากประเทศในทวีปแอฟริกา ณ จุดคัดกรองโรค ทุกช่องทางทั้ง บก เรือ และอากาศ ก่อนจะเข้าประเทศ

3. เตรียมความพร้อมทางห้องปฏิบัติการในการตรวจวินิจฉัยโรคฝีดาษลิง ทั้งห้องปฏิบัติการสังกัดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และหน่วยงานในสำนักงานกระทรวงสาธารณสุข

4. จัดเตรียมเวชภัณฑ์ในการรักษาผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงอย่างเพียงพอ

5. จัดเตรียมทีมเฝ้าระวังสอบสวนและการจัดการพื้นที่ ในกรณีเกิดการระบาดของโรคฝีดาษลิง

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังติดตามสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคหัด ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะโรคหัด ซึ่งเข้าสู่ช่วงของการระบาด โดยพบมากในพื้นที่ชายแดนใต้ เนื่องจากอัตราการฉีดวัคซีนต่ำกว่า 80% โดยล่าสุด มีผู้ป่วยยืนยันแล้ว 2,000 ราย เสียชีวิต 4 ราย ซึ่งได้จัดทีมปฏิบัติการเชิงรุกลงพื้นที่ เพื่อเพิ่มความครอบคลุมการได้รับวัคซีนให้มากขึ้น

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบร่างอนุบัญญัติ ได้แก่

1. ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ให้เพิ่มด่านสามเหลี่ยมทองคำ จังหวัดเชียงราย และด่านระนอง (ท่าเทียบเรือสะพานปลา) จังหวัดระนอง เป็นด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ลำดับที่ 70 และ 71

2. ร่างระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าตอบแทนในการดำเนินการ เฝ้าระวัง การสอบสวนโรคการป้องกัน หรือการควบคุมโรคติดต่อ จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ระเบียบค่าตอบแทนสำหรับโรคติดต่ออันตราย และระเบียบค่าตอบแทนสำหรับโรคระบาด ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เนื่องจากการดำเนินงานของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ มีความเสี่ยงสูง และมีโอกาสติดโรคได้ง่าย โดยให้มีคณะกรรมการพิจารณาการเบิกจ่ายค่าตอบแทนให้กับเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อซึ่งปฏิบัติงานใน 4 สถานที่ ได้แก่ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ, พื้นที่ที่มีผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย, ห้องปฏิบัติการ และสถานพยาบาล

3. ร่างระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าชดเชยในการดำเนินการเฝ้าระวังการสอบสวนโรค การป้องกัน หรือการควบคุมโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด ซึ่งผู้ที่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ได้แก่ เจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ หน่วยงานของรัฐ สถานพยาบาล ห้องปฏิบัติการ สถานที่ที่ได้มีการชันสูตรของหน่วยงานของรัฐ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการเฝ้าระวัง สอบสวนโรค ป้องกัน หรือควบคุมโรคติดต่อหรือโรคระบาด ที่ติดเชื้อหรือเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด

โดยตัวเจ้าหน้าที่ หรือทายาท สามารถยื่นคำขอรับค่าชดเชยต่อหัวหน้าหน่วยงานได้ 4 กรณี ดังนี้

1) กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร หรือเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิต และมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำรงชีวิต

2) กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต

3) กรณีติดเชื้อหรือกรณีบาดเจ็บจนได้รับอันตรายสาหัส

4) กรณีติดเชื้อหรือกรณีบาดเจ็บและได้รับการรักษาไม่เกิน 20 วัน

นอกจากนี้ ได้มีมติเห็นชอบนโยบายแนวทางปฏิบัติ และมาตรการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อยุติปัญหาเอดส์ โดยมอบฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ประสานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/ กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาดำเนินการในพื้นที่รับผิดชอบต่อไป

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ส.ค. 67)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top