นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ คาดว่าจะเป็นการหารือเพื่อคุยเรื่องกรอบอำนาจหน้าที่รักษาการของรัฐมนตรี เพราะต้องการความชัดเจนว่ามีอำนาจหน้าที่ใดบ้าง เพื่อให้ทุกอย่างสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ และหากในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันพรุ่งนี้ (16 ส.ค.) สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้อย่างราบรื่น จะเป็นประโยชน์มาก เนื่องจากประเทศไม่ควรว่างเว้นการมีรัฐบาลนาน เพราะจะกระทบกับเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
ส่วนนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตนั้น คาดว่าจะนำเรื่องนี้หารือกันในพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาล แต่มติจะเป็นอย่างไรคงจะต้องยึดตามนั้น โดยขณะนี้ยังไม่ได้หารือกันในเรื่องนี้มากนัก ส่วนใหญ่ในพรรคจะเป็นการหารือเพื่อฟอร์มทีมรัฐบาลใหม่ก่อน
“รายละเอียด จะต้องรอภายหลังจากรวมกลุ่มเป็นรัฐบาลแล้ว ดังนั้น ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะพูดเรื่องนี้ เพราะยังมีหลายขั้นตอน รวมถึงการแถลงนโยบายต่อที่ประชุมสภาฯ ด้วย” นายจุลพันธ์ กล่าว
ส่วน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 67 และ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ปี 68 นั้น นายจุลพันธ์ มั่นใจว่า ยังคงเป็นไปตามกรอบที่กำหนดไว้แล้วทั้งหมด เนื่องจากเรื่องนี้ได้ผ่านขั้นตอนของฝ่ายบริหารไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนที่เหลือนั้นเป็นไปตามกรอบเวลาไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
ด้านนายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ยืนยันว่า รัฐบาลรักษาการสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามปกติ ซึ่งกระทรวงต่างๆ ก็สามารถเสนอของบเข้ามาได้ ส่วนโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะเดินหน้าต่อหรือไม่ เพราะมีการเปลี่ยนผู้นำรัฐบาลแล้วนั้น คงต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลรักษาการ และต้องรอความเห็นทางกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา หากจะเดินหน้าต่อ
“ถ้าดู พ.ร.บ.งบเพิ่มเติม ปี 67 ที่ผ่านสภาฯ มาแล้ว ก็ต้องเดินไปตามกระบวนการ แต่นโยบายของรัฐบาลรักษาการจะทำอย่างไรต่อไปก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลรักษาการ”
อย่างไรก็ดี หากยุติโครงการ หรือไม่สามารถใช้งบประมาณได้ทันในปีงบประมาณ หรือก่อน 30 ก.ย.67 ก็เป็นอันตกไป
ส่วนการจะออกเป็นกฏหมาย เพื่อโอนเงินจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ไปใช้กับโครงการอื่น เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจแทนนั้น นายเฉลิมพล กล่าวว่า ต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์โครงการใช้จ่ายเงินเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ และต้องเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย พร้อมย้ำว่า หากจะดำเนินการต่อ ก็ต้องใช้งบภายใน 30 ก.ย.นี้ อย่างไรก็ดี หากจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไร ก็ต้องเป็นไปตามกรอบกฎหมาย
ส่วนกรณีที่เลขาธิการกฤษฎีกา แสดงความเห็นว่าควรยุติโครงการดังกล่าวเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลนั้น นายเฉลิมพล ย้ำว่า ต้องดูที่กฎหมายเป็นหลัก แต่หากดูความเห็นตามกระบวนการงบประมาณ ก็ผ่านสภาฯ เรียบร้อยแล้ว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ส.ค. 67)
Tags: การเมือง, จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์, พ.ร.บ.งบประมาณ, พรรคเพื่อไทย, สภาผู้แทนราษฎร