สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า นักลงทุนต่างชาติอาจเริ่มหันเหออกจากพันธบัตรของรัฐบาลไทย เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายคุมเข้มด้านการเงินเป็นเวลานานกว่าธนาคารกลางของประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย นอกจากนี้ ความเสี่ยงทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นในประเทศยังทำให้ความน่าดึงดูดของพันธบัตรไทยลดน้อยลงด้วย
สถานการณ์ดังกล่าวอาจทำให้บรรยากาศในตลาดพันธบัตรของไทยพลิกผัน หลังจากที่กองทุนต่างชาติได้แห่เข้าซื้อพันธบัตรของไทยเป็นวงเงินสูงถึง 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสนี้ ซึ่งมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2565 และทำให้พันธบัตรไทยเป็นหนึ่งในพันธบัตรที่ทำผลงานดีที่สุดในภูมิภาคเอเชีย
กระแสคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเกาหลีใต้, อินเดีย, ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียในปีนี้ มีแนวโน้มที่จะทำให้พันธบัตรรัฐบาลของประเทศเหล่านั้นมีความน่าดึงดูดมากกว่าพันธบัตรของรัฐบาลไทย ขณะที่มีการคาดการณ์ว่า ธปท.อาจจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า
เจนนิเฟอร์ กุสุมา นักกลยุทธ์อาวุโสของธนาคารออสเตรเลีย แอนด์ นิวซีแลนด์ แบงกิง กรุ๊ปในสิงคโปร์กล่าวว่า “ในอีก 6 เดือนข้างหน้า พันธบัตรของรัฐบาลไทยอาจจะไม่สามารถทำผลงานโดดเด่นมากกว่าพันธบัตรของประเทศเพื่อนบ้านในเอเชีย เนื่องจากกระแสคาดการณ์ที่ว่าธปท.อาจจะเลื่อนการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ออกไปเป็นปี 2568 สถานการณ์ดังกล่าวจะสร้างความกังวลให้กับนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้ ภาวะสุญญากาศทางการเมืองที่ยืดเยื้อจะเพิ่มความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจและนโยบายของไทย”
ดัชนี SET ตลาดหุ้นไทยปิดร่วงลงเมื่อวานนี้ (14 ส.ค.) ซึ่งส่งสัญญาณว่าความเสี่ยงด้านการเมืองในประเทศไทยเพิ่มขึ้น หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 4 วินิจฉัยให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากขาดคุณสมบัติด้านความซื่อสัตย์สุจริต ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง กรณีเสนอแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี ทั้ง ๆ ที่นายพิชิตเคยถูกพิพากษาโทษจำคุก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ส.ค. 67)
Tags: การเมือง, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., พันธบัตรรัฐบาล, รัฐบาลไทย, อัตราดอกเบี้ย