EA ครึ่งปีแรกกำไรร่วงหนักเกือบ 70% กู้ก้อนใหม่ 8,500 ลบ.คืนหนี้ระยะสั้น-ขอหาพาร์ทเนอร์เสริมแกร่ง

บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) แจ้งผลประกอบการไตรมาส 2/67 กำไร 541.74 ล้านบาท ลดลงจาก 2,160.25 ล้านบาทในไตรมาส 2/66 และงวดครึ่งปีแรกมีกำไร 1,430.44 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนท่มีกไร 4,480.01 ล้านบาท

EA ชี้แจงว่า ไตรมาส 2/67 กำไรลดลง 1,618.52 ล้านบาท หรือลดลง 74.9% เมื่อทเยบกับไตรมาส 2/66 เนื่องจากผลการดำเนินงานของธุรกิจรถโดยสารไฟฟ้าและรถเพื่อการพาณิชย์ส่งมอบรถน้อยลง 814 ล้านบาท ผลการดำเนินงานของธุรกิจแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนลดลง 535 ล้านบาท ลดลงจากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในจังหวัดนครสวรรค์หมดระยะเวลาการรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล (adder) จำนวน 345 ล้านบาท ผลกระทบจากการปรับลดค่า FT ของทางภาครัฐจำนวน 215 ล้านบาท ลดลงจากส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้าสุทธิ 193 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของธุรกิจไบโอดีเซลรวมทั้งธุรกิจอื่นยังคงเพิ่มขึ้นจำนวน 92 ล้านบาท รวมถึงเพิ่มขึ้นจากการแบ่งกำไร (ขาดทุน) ให้กับผู้มีส่วนได้เสียที่ไม่มีอำนาจควบคุม จำนวน 414 ล้านบาท

ส่วนงวดครึ่งปีแรก กำไรสุทธิลดลง 3,049.58 ล้านบาท หรือลดลง 68.1%

นายวสุ กลมเกลี้ยง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน EA กล่าวว่า “แม้รายได้และกำไรในครึ่งแรกของปี 67 จะปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากได้มีการส่งมอบ EV Bus ให้กับลูกค้ารายใหญ่ลดต่ำลง แต่ EA ยังมีรายได้ประจำที่เกิดขึ้นจากการขายไฟให้กับภาครัฐเดือนละประมาณ 1,000 ล้านบาทเพียงพอสำหรับการชำระคืนดอกเบี้ยหุ้นกู้ให้กับผู้ถือหุ้นกู้และคืนหนี้ให้กับเจ้าหนี้สถาบันการเงิน”

สำหรับแผนการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังปี 67 ธุรกิจรถโดยสารไฟฟ้าและรถเพื่อการพาณิชย์จะมุ่งเน้นไปที่การจำหน่ายรถหัวลากไฟฟ้า (EV Truck) เป็นหลัก โดยที่ผ่านมาบริษัทได้ส่งมอบให้กับกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่หลายราย เช่น กลุ่ม บมจ.เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ (JWD) กลุ่ม บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) กลุ่ม บมจ.ดับบลิวเอช เอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) เป็นต้น และยังมีคู่ค้าอีกหลายรายที่อยู่ระหว่างการเจรจา และเตรียมการส่งมอบ EV Truck

ส่วนธุรกิจแบตเตอรี่อยู่ในระหว่างปรับปรุงการออกแบบเพื่อนำไปใช้ในการผลิตรถหัวลากไฟฟ้า รวมถึงการนำแบตเตอรี่ไปจำหน่ายในรูปแบบของ Energy Storage (ESS) ด้านธุรกิจไบโอดีเซล บริษัทมีรายได้จำนวน 2,042.40 ล้านบาท จากรายได้จากการผลิตและจำหน่ายไบโอดีเซล (B100) จากการผลิตและจำหน่ายกลีเซอรีนบริสุทธิ์ และจากการผลิตและน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) รวมถึงรายได้จากการผลิตและจำหน่าย PCM

นอกจากนี้ ธุรกิจอื่นๆ บริษัทฯยังมีรายได้เพิ่มขึ้นจากธุรกิจบริการสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า รายได้โครงการรับเหมาก่อสร้างติดตั้ง Solar Rooftop และรายได้จากโครงการกำจัดขยะมูลฝอยในพื้นที่เกาะล้านที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี และเทศบาลนครภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต

งบดุล ณ วันที่ 30 มิ.ย.67 บริษัทและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวม 110,006.34 ล้านบาท โดยมีหนี้สินรวมจำนวน 69,709.87 ล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้นจำนวน 40,296.48 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 66 จำนวน 3,713.14 ล้านบาท โดยหลักลดลงจากการจ่ายการจ่ายปันผล 1,113.85 ล้านบาท ลดลงจากองค์ประกอบอื่นของส่วนของเจ้าของจำนวน 3,426.25 ล้านบาท

สำหรับการบริหารจัดการสภาพคล่อง หลังจากที่บริษัทได้ถูกปรับลดระดับความน่าเชื่อถือจาก BBB+ (Negative) เป็น BB+ (Negative) ผู้บริหารได้ใช้นโยบายและการจัดการความเสี่ยงด้านสภาพคล่องในการบริหารจัดการอย่างเร่งด่วน โดยในวันที่ 8 ส.ค.67 กลุ่มกิจการได้เข้าทำสัญญาเงินกู้ยืมระยะยาวและเงินกู้ยืมร่วม (Syndicated Loan) กับสถาบันการเงินหลายแห่งคิดเป็นจำนวนเงินรวมประมาณ 8,500 ล้านบาท เพื่อวัตถุประสงค์ในการชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงิน โดยมีการกำหนดเงื่อนไขการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยภายใน 3 ปี โดยกลุ่มกิจการจะทยอยจ่ายคืนเงินกู้ผ่านกระแสเงินสด (Cash Flow) จากการดำเนินงานตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภาครัฐ (PPA)

และในวันที่ 9 ส.ค.67 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ครั้งที่ 1/2567 สำหรับหุ้นกู้รุ่น EA248A ผู้ถือหุ้นกู้มีมติอนุมัติการขยายวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ 1,500 ล้านบาท จากเดิมครบกำหนดในวันที่ 15 ส.ค.67 เป็นวันที่ 31 พ.ค.68 เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยจากเดิม 3.11% ต่อปี เป็น 5.00% ต่อปี และมีหลักประกันให้เพิ่มเติม

จากนั้นในวันที่ 14 ส.ค.67 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้รุ่น EA249A บริษัทได้ขออนุมัติการขยายวันครบกำหนด ไถ่ถอนหุ้นกู้โดยไม่ถือเป็นเหตุให้ผิดนัดจำนวน 4,000 ล้านบาท แต่ผู้ร่วมประชุมไม่ครบองค์ จึงจะจัดการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ครั้งที่ 2/2567 ในวันที่ 23 ส.ค.นี้ บริษัทคาดว่าจะครบองค์ประชุมและได้รับการอนุมัติ

อย่างไรก็ตาม เพื่อช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านการเงิน บริษัทฯอยู่ในระหว่างการเจรจาหาผู้ร่วมทุนรายใหม่ Strategic Partner ที่มีศักยภาพสามารถเข้ามาเพิ่มทุน และเพิ่ม Synergy ระหว่างกันรวมถึงการจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัทฯ ซึ่งรวมถึงการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) หรือการจำหน่ายสินทรัพย์ให้แก่นักลงทุนที่ให้ความสนใจ

นอกจากนี้ บริษัทยังมีพัฒนาการที่สำคัญในไตรมาสที่สอง 2 โครงการที่สำคัญ คือ โครงการที่ 1 EA ได้ลงนามในสัญญาร่วมพัฒนาโครงการ (Joint Development Agreement) กับรัฐบาล สปป.ลาว จัดตั้งบริษัทร่วมทุน Super Holding Company ในบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดแบบรวมศูนย์ของ สปป.ลาว ตั้งเป้าภายใน 3 ปี เพิ่มรายได้ค่าไฟฟ้า ลดภาระ การนำเข้าน้ำมันดิบพัฒนาโครงการกักเก็บพลังงานไฟฟ้า จัดหาโซลูชั่น EV ลงทุนพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมร่วมผลักดันสู่เป้าหมายยุทธศาสตร์แห่งชาติ “Battery of Asia”

โครงการที่ 2 EA ได้เข้าร่วมลงนามเป็น Strategic Partner กับ CRRC Dalain ซึ่งเป็นการส่งเสริมการลดคาร์บอนไดออกไซด์ของเครื่องยนต์สันดาปในแบบเก่าการเปลี่ยนแปลงเพื่อการยกระดับอุปกรณ์เส้นทางคมนาคม ซึ่ง EA และ CRRC Dalian ได้ร่วมมือใน 1. ร่วมกันออกแบบและพัฒนาระบบไฟฟ้าแบตเตอรี่ และ/หรือระบบไฟฟ้าแบตเตอรี่ดีเซลไฮบริด สำหรับรถไฟหัวรถจักรและรถไฟโดยสาร 2. ร่วมกันสำรวจและประเมินความต้องการของลูกค้า จำหน่ายและจัดหาผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาร่วมกันในประเทศไทยและตลาดต่างประเทศ 3. ร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่ตามความต้องการของตลาดเป้าหมาย โดยใช้เทคโนโลยี การผลิตรถไฟที่แข็งแกร่งของ CRRC Dalian และเทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเทียมและเทคโนโลยี Ultra-fast charge ของ EA เพื่อสร้างขีดความสามารถของเทคโนโลยีในระยะยาว ในด้านต้นทุน และประสิทธิภาพ 4. ร่วมกันพิจารณาจัดตั้งโรงงานผลิตและประกอบในประเทศไทย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ส.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top