สถาบันอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยการส่งออกสินค้าอาหารของไทย 6 เดือนแรกปี 67 มูลค่า 8.52 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.9% ลุ้นครึ่งปีหลังขยายตัวต่อเนื่อง ราว 7.8% คาดมูลค่า 7.97 แสนล้านบาท มั่นใจเป้าส่งออกอาหารทั้งปี 67 แตะ 1.65 ล้านล้านบาท ขยายตัว 8.8%
นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าอาหารไทยช่วง 6 เดือนแรก ปี 67 (ม.ค.-มิ.ย.) แตะระดับ 852,423 ล้านบาท ขยายตัว 9.9% ปัจจัยหลักมาจากความต้องการสินค้าอาหารไทยในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ต้นทุนวัตถุดิบหลักในการแปรรูปหลายรายการอ่อนตัวลง โดยราคาปลาทูน่าที่ลดลง ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมปลาทูน่าแปรรูป และอาหารสัตว์เลี้ยง กลุ่มผู้ผลิตซอสได้รับต้นทุนน้ำตาลและถั่วเหลืองที่มีราคาถูกลง ราคากากถั่วเหลือง และราคาข้าวโพดที่ลดลง เอื้อต่อผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุตสาหกรรมไก่ ส่วนการลดลงของราคาข้าวสาลีในตลาดโลก ช่วยลดต้นทุนการผลิตผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ ขนมปังกรอบ รวมทั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น
สำหรับกลุ่มสินค้าที่ปริมาณ/มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น และส่งผลบวกต่อภาพรวมส่งออกอาหาร ได้แก่ ข้าว (+25.3%/+55.7%) แป้งมันสำปะหลัง (+21.1%/+30.5%) อาหารสัตว์เลี้ยง (+20.7%/+41.7%) ปลาทูน่ากระป๋อง (+20.7%/+19.2%) ซอสและเครื่องปรุงรสรส (+10.7%/+16.7%) และผลิตภัณฑ์มะพร้าว (+19.7%/+29.4%)
ส่วนกลุ่มสินค้าที่ปริมาณส่งออกลดลง ส่วนใหญ่ประสบปัญหาด้านผลผลิต โดยเฉพาะผลไม้สด ปริมาณส่งออกลดลง 11.9% น้ำตาลทราย ปริมาณส่งออกลดลง 46.4% กุ้ง ปริมาณส่งออกลดลง 6.8% และสับปะรด ปริมาณส่งออกลดลง 13%
“ปริมาณ และราคาส่งออกข้าวไทย เพิ่มสูงขึ้นตามความต้องการตลาดโลก หลังอุปทานข้าวโลกตึงตัว จากการที่อินเดียยังคงจำกัดการส่งออก การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง และปลาทูน่ากระป๋องขยายตัวสูง อานิสงส์จากราคาปลาทูน่าที่อยู่ในระดับต่ำ ความต้องการปลาทูน่ากระป๋องในกลุ่ม OEM มีแนวโน้มโดดเด่น เพราะได้รับประโยชน์จากราคาขายลดต่ำลงตามต้นทุนวัตถุดิบ ซอสและเครื่องปรุงรสรสขยายตัวจากการที่ผู้ประกอบการไทยเน้นการรุกตลาดซอสบนโต๊ะอาหาร (Dipping/Table Sauces) รสชาติเผ็ดร้อนมากขึ้น หลังจากซอสในกลุ่มดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างมากจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ในประเทศฝั่งชาติตะวันตก ทั้งยุโรป และสหรัฐอเมริกา การส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าวขยายตัวสูงในกลุ่มกะทิที่นำไปประกอบอาหารในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ ออสเตรเลีย รวมถึงกะทิที่ผสมและใช้เป็นเครื่องดื่มสุขภาพในตลาดจีน” นางศุภวรรณ กล่าว
ในส่วนของตลาดส่งออกอาหารไทย ในช่วง 6 เดือนแรก ปี 67 ส่วนใหญ่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในระดับสูง อาทิ แอฟริกา (+38.5%) โอเชียเนีย (+29.0%) สหรัฐอเมริกา (+23.0%) สหราชอาณาจักร (+17.2%) ตะวันออกกลาง (+16.7%) สหภาพยุโรป (+14.4%) CLMV (+12.5%) และญี่ปุ่น (+8.4%) มีเพียงตลาดส่งออกไปยังประเทศอินเดีย (-18.1%) และจีน (-5.0%) ที่หดตัวลง โดยอินเดียหดตัวลงตามสินค้าน้ำมันปาล์มเป็นหลัก และหันไปนำเข้าน้ำมันถั่วเหลืองเพิ่มขึ้น ขณะที่ตลาดจีนหดตัวลงตามสินค้าผลไม้สด (ทุเรียน) กุ้ง และไก่สดแช่แข็ง เป็นต้น
นางศุภวรรณ กล่าวว่า มูลค่าการค้าอาหารโลก 6 เดือนแรก ปี 67 หดตัวลง 4% มูลค่าการค้า 933 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยประเทศผู้ส่งออก 9 อันดับแรกของโลก มีอันดับโลกไม่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา บราซิล เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี จีน ฝรั่งเศส สเปน แคนาดา และอิตาลี ตามลำดับ สำหรับประเทศไทย ส่งออกในรูปดอลลาร์เพิ่มขึ้น 5.1% เป็นอันดับที่ 12 ของโลก
สำหรับแนวโน้มการส่งออกอาหารไทยในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะมีมูลค่า 797,568 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.8% โดยการส่งออกในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ปี 67 จะมีมูลค่า 395,536 ล้านบาท และ 402,032 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.6% และ 9.9% ตามลำดับ
โดยภาพรวมในปี 67 คาดว่าการส่งออกของอาหารไทยจะมีมูลค่า 1.65 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.8% เทียบจากปีก่อนที่มีมูลค่า 1.51 ล้านล้านบาท มีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการที่ประเทศคู่ค้ากังวลเรื่องความมั่นคงทางอาหาร หลายประเทศขาดศักยภาพในการผลิตสินค้าเพื่อการแข่งขันในตลาดโลก ขณะที่สินค้าอาหารไทยมีภาพลักษณ์ด้านคุณภาพมาตรฐาน และได้รับความเชื่อถือ
อย่างไรก็ตาม คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวต่ำกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากมีแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจ และการค้าโลกชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกยังคงอยู่ในระดับสูง ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในภาคเกษตรที่ต่อเนื่อง ค่าเงินบาทยังคงผันผวนและมีทิศทางแข็งค่าขึ้น ต้นทุนค่าขนส่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามอัตราค่าระวางเรือ รวมถึงปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภค
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกยังมีความผันผวน และภาคผลิตของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัดเจน ซึ่งการส่งออกอาหารไทย ยังมีปัจจัยจากแรงกดดันเรื่องต้นทุนค่าระวางเรือ ส่งผลให้ผู้นำเข้าปลายทางชะลอการนำเข้าโดยตรง ประกอบกับสินค้าที่ประเทศจีนสามารถผลิตได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำมาก ส่งผลให้ตลาดอยู่ในภาวะการแข่งขันสูง ดังนั้น ยังคงต้องติดตามการตอบโต้ทางการค้าของประเทศปลายทางด้วย
“ประเด็นที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัว และติดตามใกล้ชิด โดยเฉพาะเรื่องค่าเงินบาทที่ผันผวนอย่างรุนแรง จากมาตรการทางการเงินของประเทศต่าง ๆ ที่เริ่มมีการลดดอกเบี้ยในหลายประเทศ เบื้องต้นผู้ประกอบการต้องประกันความเสี่ยงค่าเงิน ส่วนในภาพรวมธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องติดตามนโยบายการเงินของประเทศต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด และแก้ไขสถานการณ์ให้ทันเหตุการณ์ ไม่ปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งค่าจนไม่สามารถแข่งขันได้ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของการส่งออกของประเทศไทย ที่ยังเป็นส่วนสำคัญในการชี้ชะตา GDP ของไทยในอนาคต” นายวิศิษฐ์ กล่าว
หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ภายใต้นโยบาย “Connect-Competitive-Sustainable” ได้มุ่งมั่นยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคเกษตรและอาหารของไทย โดยได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนทุกภาคส่วน ในการขับเคลื่อนโครงการอันส่งผลต่อการเพิ่มศักยภาพธุรกิจเกษตรและอาหารตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ
อาทิ จัดตั้งศูนย์ประสานงานและประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรและอาหาร หรือศูนย์ AFC ร่วมกับภาคีเครือข่าย 28 องค์กร เพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าล้นตลาดและราคาตกต่ำให้เกิดเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งได้ร่วมมือกับสถาบันอาหารในการศึกษารูปแบบบริหารจัดการเครือข่ายความร่วมมือ และสร้างต้นแบบการบริหารจัดการ Food Valley ในจังหวัดขอนแก่นภายใต้โครงการ Khon Kaen Food Valley Cluster เพื่อขยายผลให้เป็น Role Model ไปในจังหวัดต่าง ๆ ตลอดจนการรณรงค์บริโภคอาหารโปรตีนทางเลือกในการประชุมภายในองค์กรอย่างน้อย 30% ของมื้ออาหารปกติ
ทั้งนี้ จะเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจอาหารจากโปรตีนทางเลือกของประเทศไทย ให้บรรลุเป้าหมายมูลค่าอุตสาหกรรมอาหารอนาคตของไทย 500,000 ล้านบาท ในปี 70 ซึ่งไม่เพียงตอบโจทย์เป้าหมาย SDGs และ BCG เท่านั้น แต่ยังจะเป็นการจัดการและเพิ่มมูลค่าของ Food waste และ Food loss ในระบบการผลิตอาหาร เพื่อความยั่งยืนของเกษตรกรผู้ประกอบการ และความยั่งยืนของโลกอีกด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ส.ค. 67)
Tags: การส่งออก, วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา, ศุภวรรณ ตีระรัตน์, ส.อ.ท., ส่งออกอาหาร, หอการค้าไทย