รายงานแนวโน้มประชากรโลกขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่เผยแพร่เมื่อเดือนที่แล้ว คาดการณ์ว่า จำนวนประชากรโลกจะเริ่มลดลงในศตวรรษนี้ หลังจากแตะระดับสูงสุดในช่วงกลางทศวรรษ 2080 เนื่องจากอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีน
รายงานระบุว่า ประชากรโลกซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 8.2 พันล้านคน จะเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดที่ราว 1.03 หมื่นล้านคนในช่วงกลางทศวรรษ 2080 และค่อย ๆ ลดลงมาอยู่ที่ราว 1.02 หมื่นล้านคนในปี ค.ศ. 2100
ตัวเลขดังกล่าวบ่งชี้ว่า จำนวนประชากรโลกจะแตะระดับสูงสุดและลดลงเร็วกว่าการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ในรายงานฉบับปี 2022 ซึ่งคาดว่าประชากรโลกจะแตะ 1.04 หมื่นล้านคนภายในทศวรรษ 2080 แต่ไม่ได้ระบุช่วงเวลาที่ชัดเจน และจะยังคงอยู่ในระดับดังกล่าวไปจนถึงปี 2100
ในประเทศและดินแดนต่าง ๆ เกินครึ่งโลก อัตราการเจริญพันธุ์ของผู้หญิงต่ำกว่า 2.1 นอกจากนี้ เกือบ 1 ใน 5 ของประเทศและดินแดนต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงจีน อิตาลี เกาหลีใต้ และสเปน มีอัตราการเจริญพันธุ์ “ต่ำมาก” โดยต่ำกว่า 1.4
เมื่อพิจารณาเป็นรายประเทศพบว่า จีนจะมีประชากรลดลงอย่างมากที่ในอีกหลายทศวรรษที่กำลังจะมาถึง โดยประชากรจะลดลงกว่าครึ่งสู่ระดับ 633.4 ล้านคนภายในปี 2100 จาก 1.4 พันล้านคนในปี 2024 แต่จะยังคงมีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลกรองจากอินเดีย ซึ่งคาดว่าจะมีประชากรราว 1.5 พันล้านคนในปี 2100
ทั้งนี้ ณ ปี 2024 จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดใน 63 ประเทศและดินแดน รวมถึงจีน เยอรมนี ญี่ปุ่น และรัสเซีย โดยคาดว่าประชากรของประเทศและดินแดนเหล่านี้จะลดลง 14% ในอีก 30 ปีข้างหน้า
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ส.ค. 67)
Tags: UN, ประชากรโลก, องค์การสหประชาชาติ, อัตราการเกิด