“อนุสรณ์” ห่วงไทยตกยุค แนะทำ AI Transformation+Digital Transformation เพิ่มมูลค่าศก.

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้มีการพัฒนาก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว การขับเคลื่อนของเทคโนโลยี Generative AI หรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ สามารถทำงานสร้างสรรค์ได้ทำให้ผลิตภาพในการทำงานสร้างสรรค์เพิ่มขึ้นในอัตราเร่งพร้อมกับโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ จำนวนมาก ขณะเดียวกัน การแข่งขันกันนำเสนอการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Generative AI ในธุรกิจอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของบริษัทไฮเทคจะพลิกผัน หรือ Disrupt ธุรกิจอุตสาหกรรมเดิมพลิกโฉมไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป บางกิจการจะถดถอยไปและหายไป บางกิจการจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดพร้อมผลิตภาพและกำไรสูงขึ้น

เครือข่ายคอมพิวเตอร์ ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ เป็นแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่ รวมทั้งเป็นแหล่งรวมงานสร้างสรรค์ของมนุษย์ หากควอนตัมคอมพิวติ้ง (Quantum Computing) สามารถนำมาใช้ในอนาคตอันใกล้ จะทำให้การประมวลผลรวดเร็วและมีประสิทธิภาพขึ้นไปอีก เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนอีกมากมายในอัตราเร่ง

หุ่นยนต์ที่มีการเรียนรู้อัตโนมัติด้วยการเลียนแบบการทำงานโครงข่ายประสาทของมนุษย์ (Neurons) และ สมองกลอัจฉริยะปัญญาประดิษฐ์ อาจสร้างปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจ การผลิตและการจ้างงาน หรือแม้กระทั่ง อารยธรรมหรือวัฒนธรรมของไทยได้ หากไม่มีวางยุทธศาสตร์และกำกับควบคุมให้เหมาะสม ขณะที่การกำกับมากเกินไป ก็ไปลดทอนพลังแห่งความก้าวหน้าสร้างสรรค์ได้

“หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์และ Gen AI เหล่านี้จะสร้างประโยชน์อย่างมากต่อเศรษฐกิจ ธุรกิจและสังคมไทย สามารถเพิ่มผลิตภาพอย่างก้าวกระโดด รวมทั้งการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและธุรกิจ เมื่อองค์กรต่าง ๆ ในไทยมีการดำเนินการให้เกิด AI Transformation ควบคู่ Digital Transformation อย่างเป็นระบบ” นายอนุสรณ์ กล่าว

ทั้งนี้ ความเสี่ยงและความวิตกกังวลเรื่องแรงงานมนุษย์จะถูกแย่งงานจากระบบอัตโนมัติอัจฉริยะ หุ่นยนต์ สมองกลอัจฉริยะต้องมีการบริหารจัดการให้ดี แน่นอนว่า ขณะนี้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ได้ส่งผลต่อโครงสร้างของตลาดแรงงานแล้ว และจะเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ

นายอนุสรณ์ เสนอให้มีการปฏิรูประบบแรงงานรับมือสมองกลอัจฉริยะ หรือ AI และเพิ่มความเป็นธรรมและความสามารถแข่งขัน ท่ามกลางพลวัตความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล นายจ้างกับลูกจ้างสามารถตกลงวันและเวลาในการทำงานจากที่บ้านหรือ “Work from home” ได้มากขึ้น โดย พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฉบับแก้ไขล่าสุดได้ปรับปรุงให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์การทำงานในโลกยุคดิจิทัลมากขึ้น ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี AI หุ่นยนต์ จักรกลอัตโนมัติ จะทำให้อาชีพและตลาดแรงงานเปลี่ยนแปลงไปแบบพลิกโฉม จำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบการศึกษาเรียนรู้ ระบบพัฒนาทักษะ และ บบแรงงานทั้งระบบ เพื่อให้แรงงานมนุษย์สามารถทำงานร่วมกับ AI และระบบหุ่นยนต์ได้ดีขึ้น

ทั้งนี้ สมองกลอัจฉริยะหรือ AI สามารถทำงานได้ดีกว่าแรงงานมนุษย์ และเสริมการทำงานของมนุษย์ เช่น การผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ ซึ่งเป็นงานเฉพาะและมีความแม่นยำสูงกว่าที่มนุษย์จะทำได้ และสามารถช่วยการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงขึ้นได้ ระบบ Software คอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการคำนวณประกอบกับการใช้ Big Data และ Machine Learning สามารถทำงานทางด้านการวิเคราะห์ การคำนวณ การประเมิน การลงทุน การศึกษา การวิจัยได้อย่างดี เป็นต้น

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ไทยอาศัยการลงทุนและเทคโนโลยีจากบรรษัทข้ามชาติ แต่องค์ความรู้ในการพัฒนาเทคโนโลยีไม่ได้ส่งผ่านมายังผู้ผลิตไทยมากนักตลอดช่วงเวลา 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา เราจึงเป็นเพียงผู้รับจ้างผลิตสินค้าขั้นกลางที่มีความซับซ้อนของเทคโนโลยีไม่มาก ในอุตสาหกรรมยานยนต์หรืออุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ไทยก็ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้เทคโนโลยีซับซ้อนสูงจากต่างประเทศมาประกอบในไทย

นอกจากนี้ ไทยยังมีการใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาและวิจัยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศรายได้ระดับปานกลางด้วยกัน สัดส่วนการใช้จ่ายทางด้านวิจัยและพัฒนา R&D เทียบกับจีดีพีต่ำกว่า 1% มาโดยตลอด ควรจะมีการเพิ่มงบประมาณทางด้านวิจัยและพัฒนาขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 1.5-2% ของจีดีพี พร้อมสร้างแรงจูงใจให้บริษัทต่างชาติสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และถ่ายทอดนวัตกรรม พัฒนาและออกแบบเทคโนโลยีในประเทศไทยมากขึ้น และมองว่า ไทยยังมีทุนสนับสนุนงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่ำและกระจัดกระจาย ไม่มียุทธศาสตร์ในการจัดสรรทุน ความร่วมมือระหว่าง สถาบันการศึกษา และภาคธุรกิจอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนานวัตกรรมยังมีอยู่อย่างจำกัด แรงงานมีความรู้ทักษะไม่พอเพียง และไม่สามารถสร้างนวัตกรรมได้

“ปัญหาเหล่านี้ ต้องมีแก้ไขอย่างจริงจังและเร่งด่วน เพื่อไม่ให้ไทยตกยุค AI เปลี่ยนแปลงโลก” นายอนุสรณ์ ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ส.ค. 67)

Tags: , ,
Back to Top