สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะนำกิจกรรมและแหล่งเรียนรู้ในจุฬาฯ และพื้นที่ใกล้เคียงโดยรอบ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนใจได้มีโอกาสสัมผัสกับมรดกทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตร่วมสมัย ความสวยงามของสถาปัตยกรรม พื้นที่การแสดงดนตรีที่หลายหลาย ทั้งดนตรีไทย ดนตรีตะวันตก รวมถึงนิทรรศการแสดงงานศิลปะ
กรรชิต จิตระทาน ผู้อำนวยการสำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาฯ เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศมาเยือน และร่วมทำกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการเยี่ยมชมสถาปัตยกรรม เช่น กลุ่มอาคารเทวาลัย ที่เปรียบเหมือนสัญลักษณ์ของจุฬาฯ นอกจากนี้ยังมี หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเรือนภะรตราชา ที่ได้รับรางวัลจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
นอกจากนี้ ยังมีพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ โดยมีไฮไลท์ คือ พิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์ ซึ่งเป็น 1 ใน 11 พิพิธภัณฑ์ของโลก และเป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จัดแสดงร่างกาย และชิ้นส่วนมนุษย์แบบ 3 มิติ ด้วยเทคนิคพลาสติเนชัน (Plastination) อีกทั้งยังมี พิพิธภัณฑ์สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ฌเบในห้องนิทรรศการนี้มีสัตว์ที่โดดเด่นที่สุดคือ ปูเจ้าพ่อหลวง (Potamonbhumibol Naiyanetr) ปูน้ำจืดตัวใหญ่ที่สุดในไทย
จุฬาฯ ยังจัดการแสดงดนตรีสดเป็นประจำทุกเดือน ทั้งดนตรีไทย ดนตรีคลาสสิก ดนตรีไทยร่วมสมัย การร้องประสานเสียง ไปจนถึงการแสดงพิเศษของคณะดนตรีจากต่างประเทศ ที่หอแสดงดนตรี อาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาฯ ด้วยระบบแสง สี เสียงระดับมาตรฐานสากล และยังมีรายการแสดงดนตรีในโอกาสพิเศษซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ได้แก่ คอนเสิร์ตใหญ่ของ CU Symphony Orchestra จัดขึ้นปีละสองครั้งที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการแสดงของวงดนตรีไทยปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ ซึ่งจัดในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 26 มีนาคม ของทุกปี
หลังจากมาเยี่ยมชมพื้นที่ของจุฬาฯแล้ว สามารถเดินต่อเนื่องไปยังพื้นที่โดยรอบ เพื่อชิมอาหารสตรีทฟู้ดแบบไทย ๆ ได้บริเวณถนนบรรทัดทองตลอดเส้น ที่มีทั้งแกลลอรี คาเฟ่ ศูนย์การค้า วัด โบสถ์ และศาลเจ้าจีน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ส.ค. 67)
Tags: กรรชิต จิตระทาน, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดนตรี, พิพิธภัณฑ์, สถาปัตยกรรม