นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การปรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในส่วนของการผ่อนชำระขั้นต่ำ (Minimum payment) ของบัตรเครดิต โดยให้คงอัตราอยู่ที่ 8% ออกไปอีก 1 ปีจนถึงปี 2568 จากเดิมที่จะปรับเพิ่มเป็น 10% ตั้งแต่ 1 ม.ค.68 นั้น มีเป้าหมายเพื่อช่วยลดภาระการจ่ายหนี้ และช่วยรักษาสภาพคล่องให้กับครัวเรือนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง
ซึ่งปัจจุบัน พบว่า ระดับหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 1/67 อยู่ที่ 90.8% ของ GDP แยกตามประเภทสินเชื่อได้เป็นดังนี้ สินเชื่อบ้าน คิดเป็นสัดส่วน 34% รองลงมา เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล 25% สินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพ 18% สินเชื่อรถยนต์ 11% สินเชื่อบัตรเครดิต 3% และสินเชื่ออื่นๆ 9%
ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่ผ่อนชำระขั้นต่ำมากกว่าหรือเท่ากับ 8% จะได้รับเครดิตเงินคืนเทียบเท่าการลดดอกเบี้ย 0.50% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 (ม.ค.-มิ.ย.68) และอีก 0.25% ในช่วงครึ่งหลังของปี (ก.ค.-ธ.ค.68) โดยลูกหนี้จะได้รับเครดิตเงินคืนทุก 3 เดือน เพื่อจูงใจให้ลูกหนี้ปิดจบหนี้เร็วขึ้น และมีภาระดอกเบี้ยทั้งสัญญาลดลง
นายสมชาย ประเมินว่า จากมาตรการจูงใจเพื่อให้ลูกค้าผ่อนชำระขั้นต่ำมากกว่า 8% ด้วยการให้เครดิตเงินคืนดังกล่าวที่เทียบเท่าการลดดอกเบี้ยนี้ คาดว่าจะกระทบรายได้ของธนาคารพาณิชย์ และผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต ประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนกลุ่มลูกหนี้ที่ชำระเต็ม (Transactor) จะไม่ได้รับการลดดอกเบี้ย แต่จะได้รับในเรื่องของสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ แทน เช่น คะแนะสะสม
ส่วนกลุ่มลูกหนี้ที่สามารถชำระขั้นต่ำได้ตั้งแต่ 5% แต่ไม่ถึง 8% สามารถใช้สิทธิปรับโครงสร้างหนี้ก่อนเป็นหนี้เสียได้ โดยเปลี่ยนประเภทหนี้ของบัตรเครดิตไปเป็นสินเชื่อระยะยาว (term loan) เพื่อจ่ายชำระเป็นงวด โดยลูกหนี้จะยังมีโอกาสได้สภาพคล่องจากวงเงินบัตรเครดิตส่วนที่เหลือ
“เช่น ลูกค้ามีวงเงิน 30,000 บาท ใช้ไป 18,000 บาท เหลือวงเงิน 12,000 บาท ซึ่ง ธปท.ได้ผ่อนคลายจากเดิมที่จะต้องปิดวงเงินลูกหนี้ โดยให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาคงวงเงินให้กับลูกหนี้ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับวินัยการเงินของลูกหนี้ หรือพฤติกรรมชำระหนี้ของลูกหนี้เป็นหลัก” นายสมชาย กล่าว
อย่างไรก็ดี หากดูตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ในช่วงก่อนปรับมาตรการชำระขั้นต่ำ 8% พบว่า ในไตรมาสที่ 1/67 หนี้ NPL อยู่ที่ 3.5% เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1/66 ซึ่งอยู่ที่ 2.8% และตัวเลข SM ไตรมาส 1/67 อยู่ที่ 5.5% เพิ่มจากไตรมาส 1/66 ซึ่งอยู่ที่ 5.3%
“ประเทศไทยเราใช้ Min Pay อยู่ที่ 10% มาตั้งแต่ปี 47 และมาผ่อนผันในช่วงโควิด-19 เหลือ 5% เป็นเวลา 4 ปี ก่อนจะมาปรับเป็น 8% ตั้งแต่ม.ค. 67 ซึ่งหากดูตัวเลขภายหลังปรับขึ้น จะเห็นว่าตัวเลขที่จ่ายน้อยกว่า 8% ในเดือน ม.ค.67 อยู่ที่ 18% แต่มาในเดือนพ.ค.ลดลงเหลือ 7% แม้ว่าจะปรับลดลง แต่ยอมรับว่าใน 7% มีที่เป็นหนี้เสีย และยังชำระได้ เราจึงยกเลิกการปิดวงเงิน เพื่อให้ลูกหนี้มีสภาพคล่อง” นายสมชาย กล่าว
พร้อมระบุว่า สำหรับมาตรการช่วยลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt) ภายใต้หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ธปท. ได้ขยายระยะเวลาการปิดจบหนี้จากภายใน 5 ปี เป็น 7 ปี อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปีเท่าเดิม เพื่อให้ค่างวดที่ลูกหนี้ต้องชำระปรับลดลง และลูกหนี้จะยังมีโอกาสได้สภาพคล่องจากวงเงินสินเชื่อส่วนที่เหลือ โดยมาตรการจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค.68 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ธปท. พยายามปรับมาตรการเพื่อให้ช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางได้ตรงจุด ซึ่งจากเดิม ลูกหนี้ยังกังวลในเรื่องของการปิดวงเงิน และระยะเวลาการปิดจบหนี้ ทำให้ความสามารถในการผ่อนชำระค่อนข้างตึง ส่งผลให้มีลูกหนี้เข้าโครงการค่อนข้างน้อยประมาณ 1-2% ของยอดจำนวนบัญชี 5 แสนบัญชี วงเงินรวม 1.44 หมื่นล้านบาท ภายหลังจากการปรับเกณฑ์ครั้งนี้ คาดว่าจะมีลูกหนี้เข้าโครงการเพิ่มเป็น 20% ของ 5 แสนบัญชี
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ส.ค. 67)
Tags: ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., บัตรเครดิต, สมชาย เลิศลาภวศิน, หนี้ครัวเรือน