UBS เตือนตลาดหุ้นญี่ปุ่นจ่อร่วงต่อเนื่อง ชี้เยนแข็งเพราะนลท.ลดทำ Carry Trade

นายเคลวิน เทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการลงทุนระดับภูมิภาคของบริษัทยูเอสบี โกลบอล เวลธ์ แมเนจเมนท์ ให้สัมภาษณ์ในรายการ “Squawk Box Asia” ของสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า การเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นในเวลานี้ก็เหมือนกับ “การจับมีดที่กำลังหล่นลงมา

การแสดงความเห็นของนายเทย์มีขึ้นหลังจากดัชนีนิกเกอิทรุดตัวลงอย่างหนัก โดยล่าสุดดัชนีปิดร่วงลง 4,451.28 จุด หรือ -12.40% ซึ่งเป็นการดิ่งลงในวันเดียวที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นญี่ปุ่น

“เหตุผลเดียวที่ทำให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คือการที่เงินเยนอ่อนค่าลงอย่างมาก และเมื่อเงินเยนเคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้าม คุณก็ต้องออกจากตลาดให้ถูกจังหวะ และผมคิดว่านักลงทุนต่างพากันออกจากตลาดในขณะนี้ก็เพราะเหตุผลดังกล่าว” นายเทย์กล่าว

เงินเยนซึ่งเคยอ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 38 ปีที่ระดับ 161.99 เยนต่อดอลลาร์ในเดือนมิ.ย.นั้น กลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้งหลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 0.25% และตัดสินใจปรับลดการซื้อพันธบัตรรัฐบาล

ทั้งนี้ การแข็งค่าของเงินเยนได้สร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่นซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทเทรดดิ้งและบริษัทส่งออกที่เข้ามาจดทะเบียนซื้อขาย โดยการแข็งค่าของเงินเยนได้บั่นทอนความสามารถในการทำกำไรของบริษัทเหล่านี้

นายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการ BOJ ยังคงแสดงความเห็นเชิงรุกเกี่ยวกับนโยบายการเงินในระหว่างการแถลงข่าวภายหลังการประชุมเมื่อวันที่ 31 ก.ค. โดยกล่าวว่า “หากเศรษฐกิจและเงินเฟ้อมีความเคลื่อนไหวสอดคล้องกับการคาดการณ์ของ BOJ เราก็จะยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป”

นายอุเอดะยังกล่าวด้วยว่า อัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.50% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551 นั้น ไม่ถือเป็นอุปสรรค และอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่าระดับดังกล่าว

ทั้งนี้ นายเทย์กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวของเงินเยนจะเป็นตัวแปรที่บ่งชี้ว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นจะยังคงคึกคักต่อไปหรือไม่ และปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เงินเยนมีผลกระทบอย่างมากต่อตลาดหุ้นก็คือ การที่นักลงทุนลดการทำธุรกรรม Carry Trade ในสกุลเงินเยน โดยธุรกรรม Carry Trade คือการที่นักลงทุนกู้ยืมสกุลเงินที่มีอัตราผลตอบแทนต่ำ เพื่อนำไปซื้อสินทรัพย์ที่ให้อัตราผลตอบแทนสูง

ที่ผ่านมานั้น เมื่อเงินเยนอ่อนค่าลงและอัตราดอกเบี้ยของ BOJ อยู่ที่ระดับศูนย์หรือติดลบ นักลงทุนก็จะกู้ยืมสกุลเงินเยนและเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า แต่สถานการณ์ในขณะนี้เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย และ BOJ ส่งสัญญาณเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารกลางทั้งสองแห่งปรับตัวแคบลง นักลงทุนจึงขาดแรงจูงใจที่จะทำ Carry Trade เพราะต่างก็คาดว่าเงินเยนจะแข็งค่าขึ้นอีก

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ส.ค. 67)

Tags: , , , ,
Back to Top