ตลาดหุ้นเอเชียปิดเช้าลบ หวั่นเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยหลังจ้างงานอ่อนแอเกินคาด

หุ้น ตลาดหุ้น

ตลาดหุ้นเอเชียปิดภาคเช้าร่วงลงในวันนี้ (5 ส.ค.) เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ หลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานที่อ่อนแอเกินคาด

ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวปิดภาคเช้าที่ระดับ 34,247.56 จุด ร่วงลง 1,662.14 จุด หรือ -4.63%, ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงปิดภาคเช้าที่ระดับ 16,908.96 จุด ลดลง 36.55 จุด หรือ -0.22% และดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนปิดภาคเช้าที่ระดับ 2,907.33 จุด เพิ่มขึ้น 1.99 จุด หรือ +0.06%

ส่วนดัชนี S&P/ASX 200 ตลาดหุ้นออสเตรเลียร่วงลง 3.05% และดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ดิ่งลง 6.66%

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (2 ส.ค.) ตลาดหุ้นสหรัฐดิ่งลงอย่างหนัก หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ต่ำกว่าคาด ซึ่งส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 114,000 ตำแหน่งในเดือนก.ค. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 177,000 ตำแหน่ง และชะลอตัวจากระดับ 179,000 ตำแหน่งในเดือนมิ.ย.

ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.3% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2564 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.1%

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจในเอเชียช่วงเช้านี้ ไฉซินและเอสแอนด์พี โกลบอล เปิดเผยผลสำรวจว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของจีน ขยายตัวรวดเร็วขึ้นในเดือนก.ค. แม้อุปสงค์ในต่างประเทศชะลอตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือน

ทั้งนี้ ดัชนี PMI ภาคบริการของจีน ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 52.1 ในเดือนก.ค. จากระดับ 51.2 ในเดือนมิ.ย. โดยดัชนีอยู่เหนือระดับ 50 บ่งชี้ว่าภาคบริการของจีนมีการขยายตัว และเป็นการขยายตัวติดต่อกันเดือนที่ 19

ด้านเอสแอนด์พี โกลบอล มาร์เก็ต อินเทลลิเจนซ์ เปิดเผยผลสำรวจจาก au Jibun Bank ระบุว่า ภาคบริการของญี่ปุ่นกลับมาเติบโตอีกครั้งในเดือนก.ค. 2567 โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม คำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ยังคงซบเซาและแรงกดดันด้านต้นทุนที่ไม่ลดลง ยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันภาคธุรกิจ

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของญี่ปุ่นอยู่ที่ระดับ 53.7 ในเดือนก.ค. หลังจากที่หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 21 เดือนที่ระดับ 49.4 ในเดือนมิ.ย. แต่ลดลงเล็กน้อยจากตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ 53.9

ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่ระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว ส่วนดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะหดตัว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ส.ค. 67)

Tags: ,
Back to Top