รองโฆษกรัฐบาลกังวลการแสดงออกพรรคก้าวไกลส่อละเมิดศาล

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการที่ศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้วันที่ 7 สิงหาคม 2567 เป็นวันนัดฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ฯ กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องให้มีการยุบพรรคก้าวไกล ตามคำร้องของคุณธีรยุทธ สุวรรณเกษร กรณีการหาเสียงแก้ไข มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญานั้น

นายคารม กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าไม่เคยมีปรากฎการณ์ที่พรรคการเมืองใดที่กล้าท้าทายสถาบัน พระมหากษัตริย์แบบพรรคก้าวไกล เราทราบดีว่า พรรคก้าวไกลนั้นก็มาจากพรรคอนาคตใหม่ก่อนนี้ มีเพียงพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเท่านั้นที่เคยเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบัน ฯ

เป็นที่รับทราบกันทั่วไปว่าคนของพรรคก้าวไกล ทั้งในและนอกสภา ว่ามีการกระทำที่ทำให้คนอาจเข้าใจว่า มีลักษณะอาจเป็นการบ่อนเซาะ ทำลาย กรัดกร่อนสถาบัน ฯ แบบมีนัยยะสำคัญและเป็นขั้นตอน ทั้งนี้ คนของพรรคก้าวไกลในสภา ได้ใช้สถานะความเป็นฝ่ายนิติบัญัติ พยายามจะแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นรั้วป้องกันสถาบันฯ เพื่อให้สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ความคิดริเริ่มแบบนี้ หลายคนสงสัยว่า เป็นความคิดริเริ่มที่ถูกหรือผิด สร้างสรรค์หรือทำลายกับ สถาบัน ฯ เพราะแม้คนธรรมดาก็ยังมีมาตรา 326 ปอ. เป็นกฎหมายป้องกันสิทธิส่วนบุคคล

นายคารม กล่าวต่อไปว่า ก่อนที่ศาลจะมีคำวินิจฉัย สังคมจับตาคนของพรรคก้าวไกลว่า มีการแสดงออกอย่างไร การที่มีการแสดงละครนอกศาลรัฐธรรมทำนองว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจยุบพรรคการเมืองจะถูกยุบไม่ได้ ถ้าประชาชนไม่เลือกพรรคๆนั้นจะถูกยุบเอง กรณีการกระทำดังกล่าว หากเป็นคดีอยู่ในกระบวนการของศาลยุติธรรม และคดีกำลังพิจารณา การแสดงละครดังกล่าว หรือการแสดงออกต่อการพิจารณาคดีของศาลแบบนี้ อาจเข้าข่ายละเมิดอำนาจศาลได้

นอกจากนั้น ยังมี สส.ของพรรคการเมืองบางพรรคที่เป็นเครือข่ายของพรรคก้าวไกล ส่งข้อความผ่านไปถึงต่างประเทศ ให้เข้ามาจับตาการวินิจฉัยคดียุบพรรคของศาลรัฐธรรมนูญว่าไม่เป็นสากล ซึ่งแปลเป็นอย่างอื่นไม่ได้ว่านี่คือการเอาสถาบันต่างประเทศ ทั้งที่เป็นเพียงกรรมาธิการเล็กๆ ตามชื่อเมืองๆ หนึ่ง แต่นำมาใช้ในทำนองกดดันศาล ในความคิดของผมที่เป็นนักกฎหมาย ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะคิดอย่างไรต่อกรณีที่ มี สส. พรรคฝ่ายค้านที่กระทำแบบนี้ แต่นี้คือการไม่เคารพองค์กรศาลที่ทำหน้าที่ตามกฏหมาย คนที่เป็นสส. ต้องเข้าใจระบบการพิจารณาของศาลว่า มีขอบเขตอำนาจอย่างไร แต่ถ้าทราบแล้วยังแสดงออกในลักษณะดังกล่าว อาจแสดงถึงเจตนาที่จะนำองค์กรต่างประเทศเข้ามากดดันฯ ศาล ซึ่งเป็นเรื่องอันตราย อันที่จริงการยุบพรรคการเมืองนั้น โดยหลักการแล้ว ถ้าพรรคการเมืองไม่ทำผิดกฎหมาย การยุบพรรคการเมืองก็ไม่ควรเกิดขึ้น เหมือนที่ศาลก็ไม่ควรตัดสินจำคุกหรือประหารชีวิตคนที่ไม่ได้กระทำผิด

นายคารม ระบุตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 บัญญัติเรื่องการยุบพรรคการเมืองไว้ 4 กรณี ดังนั้นกกต. จึงมีสิทธิยื่นยุบพรรคการเมืองได้ โดยเฉพาะ(1) และ ( 2) นั้น เป็นเรื่องการกระทำของพรรคการเมืองที่เข้าข่าย ล้มล้างการปกครอง ฯ เป็นเรื่องการทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง ซึ่งแทบไม่มีพรรคการเมืองไหนเคยทำ

“ประเด็นมีว่า เมื่อมีการยุบพรรคการเมืองสมาชิกพรรคการเมือง ซึ่งไม่ใช่กรรมการบริหารพรรค สามารถย้ายเข้ายังไปสังกัดพรรคใหม่ได้ ซึ่งคนของพรรคก้าวไกล ก็ทราบดี และผมเชื่อว่ามีการตั้งพรรคไว้รอแล้ว หากศาลรัฐธรรมนูญไม่กล้ายุบพรรคการเมือง หากพรรคการเมืองทำผิดกฎหมาย ทั้งที่กฎหมายให้อำนาจไว้ เพราะกลัวความกดดัน กลัวกระแสสังคม ที่เขาสร้างขึ้น หรือกลัวสายตาต่างประเทศที่มองมาที่เรา ต่อไปอาจเกิดปรากฏการณ์ ให้พรรคการเมืองหาเสียงแบบไม่รับผิดชอบต่อบ้านเมือง ต่อสังคม อาจมีการหาเสียงแบบให้แบ่งแยกประเทศไทย อาจหาเสียงให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์ อาจหาเสียงแบบให้เด็กไม่ต้องเคารพพ่อแม่ อาจหาเสียงแบบไร้ความรับผิดชอบ ออกนโยบายที่เป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม บ้านเมือง แล้วใช้กระแสคนบางกลุ่ม มากดดันให้ศาลไม่กล้ายุบพรรคที่กระทำแบบนี้ กรณีแบบนี้ เชื่อประเทศไทยจะวุ่นวายแน่นอน ตนเองเชื่อว่าวันที่ 7 สิงหาคม เป็นวันระพี วันบิดาแห่งกฎหมายไทย มั่นใจการตัดสินของศาลจะมีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายรองรับอย่างมีเหตุ มีผล เป็นที่ยอมรับของสังคมแน่นอน” นายคารม ย้ำ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ส.ค. 67)

Tags: , ,
Back to Top