สิงคโปร์จัดตั้งคณะทำงานเพื่อพลิกฟื้นตลาดหุ้นภายในประเทศ ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้สิงคโปร์จัดการกับปัญหาสภาพคล่องตกต่ำและการชะลอตัวของจำนวนบริษัทใหม่ ๆ ที่นำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาด ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าทางการสิงคโปร์ยอมรับถึงปัญหาดังกล่าวที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้
ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) เปิดเผยในวันนี้ (2 ส.ค.) ว่า “คณะทำงานชุดนี้มีนายชี ฮง ทัต รัฐมนตรีคนที่สองของกระทรวงการคลัง ทำหน้าที่เป็นประธาน โดยจะแนะนำมาตรการต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการพัฒนาตลาดหุ้นของประเทศ นอกจากนี้ คณะทำงานจะพิจารณาแนวคิดริเริ่มในการปรับปรุงภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นให้เป็นไปอย่างคึกคัก และศึกษาแนวทางการกระตุ้นให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนในความพยายามดังกล่าวให้มากขึ้น”
สมาชิกของคณะทำงานซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากธนาคารกลางสิงคโปร์, บริษัท เทมาเส็ก โฮลดิงส์ และตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์นั้น จะจัดทำรายงานให้เสร็จสิ้นภายใน 12 เดือน
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า แม้สิงคโปร์ได้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการเงินชั้นนำของเอเชีย และเป็นหนึ่งในเมืองที่มีค่าครองชีพแพงที่สุดในโลก แต่ตลาดหุ้นสิงคโปร์กลับทรุดตัวลงและประสบปัญหาปริมาณการซื้อขายที่ซบเซา โดยจำนวนบริษัทที่ถอนตัวออกจากการจดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร์มีมากกว่าจำนวนบริษัทใหม่ที่เข้าจดทะเบียน ขณะที่มูลค่าตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) โดยรวมของตลาดหุ้นสิงคโปร์ลดลงสู่ระดับราว 8 แสนล้านดอลลาร์สิงคโปร์ จากระดับ 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในปี 2561
นอกจากนี้ บริษัทเทคโนโลยีที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วและมีสำนักงานใหญ่ในสิงคโปร์ เช่น บริษัท แกร็บ โฮลดิงส์ (Grab Holdings) และบริษัท ซี จำกัด (Sea Ltd.) ได้เลือกที่จะนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐ ขณะที่บริษัทหลายแห่งที่จัดตั้งในสิงคโปร์ ซึ่งรวมถึงบริษัท โอซิม อินเตอร์เนชันแนล (OSIM International) ซึ่งเป็นผู้ผลิตเก้าอี้นวด ได้ถอนหุ้นออกจากการจดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร์
ข้อมูลของบลูมเบิร์กระบุว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2567 ตลาดหุ้นสิงคโปร์มีบริษัทใหม่เพียง 1 รายที่นำหุ้นเข้าจดทะเบียน ซึ่งล้าหลังตลาดหุ้นของประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ส.ค. 67)
Tags: ตลาดหุ้น, สิงคโปร์