“ปลาหมอคางดำ” ยังไม่กลายพันธุ์ กรมประมง ยันโอกาสเกิดน้อยมาก

จากกรณีมีการนำเสนอข่าวว่า เกษตรกรวังกุ้งคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ พบปลาที่มีลักษณะผสมกันระหว่าง ปลาหมอคางดำ กับ ปลานิล คือ ลักษณะเหมือนปลานิลแต่ที่คางมีสีดำ ซึ่งแตกต่างจากปลานิลทั่วไป ที่มีลักษณะตัวอ้วนกลม คางไม่มีสีดำ จึงตั้งข้อสังเกตสงสัยว่าจะมีการกลายพันธุ์เป็น “ปลานิลคางดำ” หรือไม่

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ชี้แจงว่า ความน่าจะเป็นในการเกิดการผสมข้ามสายพันธุ์ในธรรมชาติมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก และยังไม่พบข้อมูลหลักฐานทางวิชาการที่ระบุการผสมข้ามพันธุ์ในธรรมชาติระหว่างปลาทั้ง 2 ชนิด เนื่องจากปลานิล กับปลาหมอคางดำ เป็นปลาที่อยู่คนละสกุล ซึ่งลักษณะภายนอกที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน คือ ปลานิลจะมีแก้มและตัวสีคล้ายกัน หางมนและมีลายเส้น ส่วนปลาหมอคางดำ ใต้คางจะมีจุดสีดำ หางเว้า และไม่มีลวดลาย อีกทั้งพฤติกรรมการฟักไข่และดูแลลูกปลาก็มีความแตกต่างกันด้วย โดยปลานิลเพศเมียมีพฤติกรรมดูแลไข่และตัวอ่อน ส่วนปลาหมอคางดำเพศผู้มีพฤติกรรมดูแลไข่และตัวอ่อน

นอกจากนี้ เมื่อเดือน เม.ย.67 กรมประมงได้เคยทดลองเลี้ยงปลานิล ปลาหมอคางดำ และปลาหมอเทศรวมกันเพื่อศึกษาว่าหากอยู่ในแหล่งอาศัยเดียวกันจะสามารถผสมข้ามสายพันธุ์หรือไม่ ซึ่งผลการทดลองปรากฏว่าไม่มีการผสมข้ามพันธุ์กัน อีกทั้งพบปลานิลแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวโดยกัดปลาหมอคางดำด้วย ดังนั้นความกังวลในเรื่องการกลายพันธุ์ที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์นั้นจึงเป็นไปไม่ได้

ส่วนภาพเปรียบเทียบรูปร่างที่ปรากฏในข่าวนั้นสามารถแยกชนิดจากลักษณะภายนอกได้อย่างชัดเจน การที่จะระบุว่าปลาที่ปรากฎในข่าวเป็นปลาลูกผสมหรือไม่ต้องดำเนินการตรวจสอบอย่างละเอียดในห้องปฏิบัติการ ทั้งด้านอนุกรมวิธานและทางอณูพันธุศาสตร์ โดยนักวิชาการที่มีความรู้เฉพาะทาง

อย่างไรก็ตาม เพื่อความสบายใจของเกษตรกรและประชาชน ตนได้มอบหมายให้สำนักงานประมงจังหวัดร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดสมุทรปราการลงพื้นที่ไปยังบ่อเลี้ยงที่พบปลาดังกล่าวและเก็บตัวอย่างปลาเพื่อนำมาตรวจสอบทางวิชาการที่ห้องปฏิบัติการอนุกรมวิธานต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ส.ค. 67)

Tags: , , , , ,
Back to Top