โบรกประสานเสียงเชียร์ “ซื้อ” PTTEP ภาพรวมยังแกร่ง-เสี่ยงต่ำ แม้เก็งงบ Q3/67 อ่อนตัวตามปริมาณผลิต

บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ราคาหุ้นวันนี้ดีดขึ้นนำตลาดหลังแจ้งผลประกอบการไตรมาส 2/67 ออกมาดีกว่านักวิเคราะห์คาด พร้อมจ่ายปันผลระหว่างกาลที่ 4.50 บาท/หุ้น แม้แนวโน้มกำไรไตรมาส 3/67 อาจชะลอตัวลง QoQ ตามปริมาณการผลิตลดลง และต้นทุนต่อหน่วยสูงขึ้น แต่ภาพโดยรวมยังแข็งแกร่งเมื่อเทียบกลุ่มพลังงาน และยังมีความเสี่ยงด้านการกำกับดูแลน้อยกว่าผู้ประกอบการอื่นในประเทศ

บล.ทิสโก้ ระบุว่า PTTEP รายงานกำไรไตรมาส 2/67 แข็งแกร่ง 2.4 หมื่นล้านบาท (653 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เติบโต 28% QoQ และ 14% YoY รายการที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักในไตรมาสนี้ ประกอบด้วย กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 697 ล้านบาท (19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ), ขาดทุนจากการป้องกันความเสี่ยง 110 ล้านบาท (3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ), ขาดทุนจากการด้อยค่าที่แหล่ง Oliver ในออสเตรเลีย 1.1 พันล้านบาท (30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

หากไม่รวมรายการเหล่านี้ กำไรหลักอยู่ที่ 2.45 หมื่นล้านบาท (667 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 26% QoQ และ 21% YoY โดยผลประกอบการนี้สูงกว่าการคาดการณ์ของเรา (2.2 หมื่นล้านบาท) และประมาณการของ consensus (2.09 หมื่นล้านบาท) เนื่องจากต้นทุนต่อหน่วยที่ต่ำกว่าที่คาดไว้ ทั้งนี้ กำไรในช่วง 6 เดือนแรกของปี 67 คิดเป็น 54% ของประมาณการทั้งปี 67 ของเรา

ต้นทุนต่อหน่วยลดลงอย่างน่าประหลาดใจ QoQ เนื่องจากการกลับรายการค่าใช้จ่ายในการสำรวจที่ตั้งค้างไว้ก่อนหน้านี้ และการใช้จ่ายลงทุนที่ช้ากว่าที่คาดในระหว่างไตรมาส อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของต้นทุนต่อหน่วย YoY เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ โดยมี สาเหตุมาจากปริมาณการผลิตที่สูงขึ้นจากแหล่ง G1/61 ซึ่งมีโครงสร้างต้นทุนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย

อย่างไรก็ตาม PTTEP รายงานปริมาณการผลิตรวมที่ 5.07 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันสำหรับไตรมาส 2/67 เพิ่มขึ้น 7% QoQ และ 14% YoY การเติบโตนี้มาจากการผลิตเต็มไตรมาสจากแหล่ง G1/61 การเพิ่มสัดส่วนการร่วมทุนในแหล่ง Yadana ในเมียนมา และการเพิ่มขึ้นของการขนส่งในแอลจีเรีย ราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 47.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ซึ่งทรงตัว QoQ แต่ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย 3% QoQ ราคาขายของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเหลวเพิ่มขึ้น 2% QoQ และ 10% YoY อย่างไรก็ตาม ส่วนต่างราคาเมื่อเทียบกับราคาน้ำมันดูไบกว้างขึ้น เนื่องจากการขาย condensate ที่เพิ่มขึ้น และปริมาณการผลิตที่ลดลงจากมาเลเซีย

แม้คาดการณ์ว่ากำไรจะลดลงในไตรมาส 3/67 เมื่อเทียบ QoQ แต่ผลการดำเนินงานโดยรวมยังคงแข็งแกร่ง คาดว่าปริมาณการผลิตจะลดลงเนื่องจากกิจกรรมการบำรุงรักษาที่เข้มข้นในแหล่งผลิตภายในประเทศ (G2/61, อาทิตย์ และ MTJDA) PTTEP คาดการณ์ปริมาณการผลิตในไตรมาส 3/67 ที่ 484 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ลดลง 4% QoQ ซึ่งคาดว่าต้นทุนต่อหน่วยจะเพิ่มขึ้นสูงกว่า 29 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ อย่างไรก็ตาม คาดว่าปัจจัยลบเหล่านี้จะได้รับการบรรเทาจากสภาพแวดล้อมราคาน้ำมันที่ยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง

PTTEP ยังคงเป็นตัวเลือกที่เราชื่นชอบในกลุ่มพลังงานของไทย ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” โดยมีมูลค่าที่เหมาะสมอยู่ที่ 180.00 บาท ซึ่งอิงจากการประเมินมูลค่าด้วยวิธีกระแสเงินสดคิดลด (DCF) สำหรับ PTTEP ความเสี่ยงหลักที่อาจส่งผลลบ ได้แก่ ราคาน้ำมันที่ต่ำลง, ต้นทุนที่สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ และความล้มเหลวในการสำรวจซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการตัดจำหน่าย

บล.ดาโอ ระบุ PTTEP รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 2/67 แข็งแกร่งที่ 2.40 หมื่นล้านบาท (+14% YoY, +28% QoQ) สูงกว่า consensus และเราคาด 13% YoY, 18% QoQ ตามลำดับ โดยสูงกว่าเราคาดจากรายได้ที่ดีกว่าคาดและต้นทุนต่อหน่วย (unit cost) ที่ต่ำกว่าคาด

ทั้งนี้ กำไรสูงขึ้น YoY ตามปริมาณขายเฉลี่ย (จากการรับรู้ปริมาณขายเฉลี่ยเต็มไตรมาสจากการดำเนินงานของโครงการ G1/61 (เอราวัณ) เป็นไตรมาสแรก) และราคาขายน้ำมันเฉลี่ย (liquid ASP) ที่ดีขึ้น และสูงขึ้น QoQ ตามต้นทุนต่อหน่วย (unit cost) ที่ต่ำลง

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าบริษัทจะเห็นกำไรที่ลดลง QoQ ในไตรมาส 3/67 หลักๆ จากการปิดซ่อมบำรุงของโครงการในอ่าวไทยและแนวโน้มราคาน้ำมันดิบที่เริ่มอ่อนตัว

นอกจากนี้ PTTEP ประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับผลประกอบการ 1H67 ที่ 4.5 บาท/หุ้น (สะท้อนอัตราตอบแทนเงินปันผลที่ 3.2%) โดยจะขึ้น XD วันที่ 13 ส.ค.นี้

คงประมาณการกาไรสุทธิปี 67-68 ที่ 7.06 และ 7.17 หมื่นล้านบาท เทียบกับระดับกำไรที่สูงเป็นสถิติที่ 7.67 หมื่นล้านบาทในปี 66 โดยมีสมมติฐานสำคัญ คือ 1.ปริมาณยอดขายจะสูงขึ้นในช่วง 5.09-5.25 แสนบาร์เรลต่อวันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (kboed) จาก 4.62 kboed ในปี 66 จากการรับรู้โครงการ G1-61 และการถือครองในโครงการยาดานาที่สูงขึ้น 2. ราคาขายเฉลี่ยก๊าซธรรมชาติ(gas ASP) จะอยู่ในช่วง USD5.8/mmbtu-USD5.9/mmbtu ลดลงจาก USD6.0/mmbtu ในปี 66 เล็กน้อย และ 3. ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยจะอยู่ในช่วง 75 เหรียญ/บาร์เรล-80 เหรียญ/บาร์เรล เทียบกับ 81.9 เหรียญ/บาร์เรล ในปี 66

แนะนำ “ซื้อ” คงราคาเป้าหมายปี 67 ที่ 180.00 บาท อิงวิธี DCF (WACC 6.7%, TG 0%) และราคาน้ำมันดิบระยะยาวที่ 65 เหรียญ/บาร์เรล ทั้งนี้ แม้กำไร 1H67 จะคิดเป็น 60% ของประมาณการกำไรทั้งปีของเรา แต่เชื่อว่าบริษัทน่าที่จะเห็นกำไรอ่อนตัว QoQ ในไตรมาส 3/67 ตามแนวโน้มปริมาณขายเฉลี่ยและ blended ASP ที่ลดลง

ส่วน บล.ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย)(CGSI) ระบุในบทวิเคราะห์ ว่า ในไตรมาส 2/67 PTTEP ทำกำไรสุทธิได้ 23,978 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.3% qoq สูงกว่าประมาณการของฝ่ายวิเคราะห์ 15% เนื่องจากต้นทุนต่อหน่วยที่ 28.3 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ต่ำกว่าคาด เทียบจากสมมติฐานที่ 29.3 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

โดยรายการที่ไม่ใช่การดำเนินงานปกติในไตรมาส 2 นี้ ประกอบด้วย ขาดทุนจากการตัดจำหน่ายต้นทุนของแปลงสัมปทาน Oliver ในออสเตรเลีย 30 ล้านเหรียญสหรัฐ, ขาดทุนจากสัญญาประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน 3 ล้านเหรียญสหรัฐ และกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 19 ล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้น PTTEP จึงมีกำไรจากการดำเนินงานปกติ 24,495 ล้านบาท เติบโต 25% qoq จากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่กำไรสุทธิในช่วงครึ่งปีแรกคิดเป็น 62% ของประมาณการทั้งปีของฝ่ายวิเคราะห์ เพราะ PTTEP มีต้นทุนต่อหน่วยต่ำ แต่คาดว่ากำไรปกติในช่วงครึ่งปีหลังนี้จะลดลงเล็กน้อยจากครึ่งปีแรก ผลจากต้นทุนต่อหน่วยที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ PTTEP ยังประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล 4.5 บาท/หุ้น

ในไตรมาส 2/67 PTTEP มีปริมาณขายแข็งแกร่งที่ 5.06 แสนบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 7.1% qoq จากการรับรู้ส่วนแบ่งจากแหล่งก๊าซเอราวัณเพิ่มขึ้นเต็มไตรมาสและปริมาณขายน้ำมันเพิ่มขึ้นจากโครงการในแอลจีเรีย อย่างไรก็ตาม ปริมาณก๊าซและน้ำมันจากโครงการ Sabah K และ SK309 ลดลง qoq ในไตรมาส 2/67 และอาจลดลงต่อเนื่องในครึ่งปีหลัง จึงทำให้ PTTEP ปรับลดประมาณการการผลิตทั้งปีเป็น 5.01 แสนบาร์เรลต่อวัน จากเดิมที่ 5.09 แสนบาร์เรลต่อวัน

ราคาก๊าซของ PTTEP ในไตรมาส 2/67 ลดลง 1.7% qoq เนื่องจากปริมาณก๊าซจากแหล่งเอราวัณมีสัดส่วนสูงขึ้น ส่วนราคาขายเฉลี่ยของน้ำมัน/คอนเดนเสทมีส่วนลด 3 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เมื่อเทียบกับราคาน้ำมันดิบดูไบ เพราะปริมาณขายจากสินทรัพย์ในมาเลเซียลดลง (ราคามักจะเท่ากับหรือสูงกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเล็กน้อย) แต่ปริมาณคอนเดนเสทจากโครงการเอราวัณเพิ่มขึ้น (ปกติจะขายในราคาต่ำกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ) ขณะที่ต้นทุนต่อหน่วยในไตรมาส 2/67 ลดลง 2.5% qoq จากการกลับรายการค่าใช้จ่ายค้างจ่ายส่วนเกิน 5 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมถึงค่าใช้จ่ายการดำเนินงานที่ลดลงของโครงการเอราวัณ ซึ่งใช้งบปีนี้ไปแล้วราว 40% ในครึ่งปีแรก

นอกจากนี้ ส่วนแบ่งจากโครงการพลังงานลมยังติดลบ 3 ล้านเหรียญสหรัฐในไตรมาส 2/67 เทียบจาก 5 ล้านเหรียญสหรัฐในไตรมาส 1/67 จากความเร็วลมที่ลดลงตามฤดูกาล และการรับรู้ค่าใช้จ่ายครั้งเดียว แต่จะชดเชยด้วยดอกเบี้ยรับ 3 ล้านเหรียญสหรัฐฯจากเงินกู้ยืมแก่ผู้ถือหุ้น

ฝ่ายวิเคราะห์ CGSI เชื่อว่า ในไตรมาส 3/67 กำไรปกติอาจลดลงเล็กน้อย qoq เพราะปริมาณขายจากสินทรัพย์ในมาเลเซียลดลงและ แหล่งก๊าซในประเทศบางโครงการจะหยุดซ่อมบำรุงตามแผน ขณะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในเดือนก.ค.67 แต่มองว่าการที่อุปสงค์จากจีนยังอ่อนตัวและ OPEC+ อาจเพิ่มการผลิตในครึ่งปีหลัง จะจำกัด upside

ยังแนะนำ “ซื้อ” PTTEP เพราะเชื่อว่าบริษัทมีความเสี่ยงด้านการกำกับดูแลน้อยกว่าผู้ประกอบการอื่นในไทย และคงราคาเป้าหมายตามวิธี DCF อยู่ที่ 189 บาท โดยมองว่าปัจจัยบวกที่จะช่วยหนุนคือ ราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น ส่วน downside risk จะมาจากการบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าของเงินลงทุนในโครงการ Mozambique LNG

ด้าน บล.กรุงศรี ระบุว่า PTTEP รายงานกำไรสุทธิสูงกว่าตลาดคาด 15% สูงกว่าเราคาด 9% จาก OPEX แหล่งเอราวัณน้อยกว่าคาด (มีแนวโน้มเลื่อนไปในครึ่งปีหลังแทน)

ทั้งนี้ หากตัดรายการพิเศษ fx gain, write off แหล่ง Oliver ในออสเตรเลีย ราว -1,100 ล้านบาท และอื่นๆ ออก กำไรปกติราว 24,352 ล้านบาท (+23% y-y, +27% q-q) โต y-y q-q เพราะรายได้ที่เพิ่มตามปริมาณขายก๊าซฯและน้ำมันดิบเป็น 5.07 แสนบาร์เรลต่อวัน (+14% y-y, +7% q-q) หนุนจากสัมปทานใหม่แหล่งเอราวัณผลิตเต็ม 800 mmscfd ทั้งไตรมาส กลบแหล่งมาเลเซียที่ผลิตได้น้อยและมีปิดซ่อม และราคาขายเฉลี่ย (ASP)47.0$/BOE (+3% y-y, +1% q-q) ได้ราคาน้ำมันดิบที่ +10% y-y, +5% q-q ตามความกังวล supply ตึงตัวจากสงครามฯและการขยายการลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของ OPEC+

รายได้รวม 84,370 ล้านบาท (+25% y-y, +11% q-q) โต y-y q-q เพราะปริมาณขาย 5.07 แสนบาร์เรลต่อวัน (+14% y-y, +7% q-q) เพิ่มตามแหล่งเอราวัณ, Algeria HBR และยาดานา (ส่วนแบ่งเพิ่มจาก 37% เป็น 63%) หลัง Chevron ถอนการลงทุน และราคาน้ำมันดิบเพิ่มหนุน ASP +3% y-y, +1% q-q unit cost ราว 28.2$/BOE (+7% y-y, -3% q-q) เพิ่มขึ้น y-y ตามค่าเสื่อมฯ (DD&A) และ OPEX ของแหล่งเอราวัณ ส่วนการลดลงเล็กน้อย q-q เพราะไม่มี write off Block H ของแหล่งมาเลเซีย

กำไรปกติ H1/67 คิดเป็น 55% ของประมาณการทั้งปีของเรา เรายังคงประมาณการไว้จากแนวโน้มค่าใช้จ่ายที่เร่งตัวขึ้นใน H2/67 โดยคาดกำไรปกติไตรมาส 3/67 ราว 20,501 ล้านบาท (flat y-y, -16% q-q) ทรงตัว y-y ได้ปริมาณขายราว4.84 แสนบาร์เรลต่อวัน (+4% y-y, -4% q-q) เพิ่มขึ้นจากสัมปทานใหม่ มาชดเชย ASP ราว 47.1 $/BOE (-3% y-y, flat q-q) ส่วนการลด q-q เพราะปริมาณขายที่ลดลงจากแหล่งในประเทศอย่างบงกชและอาทิตย์เข้าสู่ช่วงปิดซ่อม และความต้องการจากโรงแยกก๊าซฯของ PTT ลดลงเนื่องจากมีลด run จากผลกระทบ single pool ประกอบกับ ASP ลดตามราคาน้ำมันดิบ จากความกังวล demand โลกชะลอ และ supply non-OPEC ออกมาเพิ่มขึ้น

roll over ไปใช้ราคาเป้าหมายปี 68 ที่ 190 บาท/หุ้น (TP24F = 178.5) คงวิธี DCF (WACC = 10.6%, LT-growth 3%) คงคำแนะนำ Trading Buy มองเก็งกำไรระยะสั้นได้จากปัจจัยบวกกำไรไตรมาส 2/67 สูงกว่าเราและตลาดคาด และความคาดหวังจากผลประชุมย่อย OPEC+ ในวันที่ 1 ส.ค.67 อาจเลื่อนกำหนดเพิ่มกำลังการผลิตออกไป

ทั้งนี้ เรามองราคาหุ้นที่ -5% นับแต่ต้นเดือน มิ.ย.ที่มีประกาศการลงทุนในตะวันออกกลาง น่าจะสะท้อนราคาน้ำมันดิบที่ผันผวน และความกังวลด้อยค่าฯไประดับหนึ่งแล้ว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ก.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top