ในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 26 ก.ค.ซึ่งเป็นวันที่ฝรั่งเศสมีกำหนดจัดพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในกรุงปารีส ได้เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความตกตะลึงไปทั่วโลก เมื่อคนร้ายได้ก่อเหตุวินาศกรรมด้วยการวางเพลิงเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงในฝรั่งเศส โดยการรถไฟฝรั่งเศส (SNCF) ระบุว่าเหตุวินาศกรรมครั้งนี้ได้สร้างความเสียหายต่อสายสื่อสารไฟเบอร์ออปติก ทำให้ต้องยกเลิกการเดินรถไฟหลายขบวนก่อนพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก และส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารอย่างน้อย 800,000 ราย
และในวันเดียวกันนั้น ยูโรสตาร์ (Eurostar) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงในยุโรป ประกาศยกเลิกบริการรถไฟจำนวน 1 ใน 4 สืบเนื่องมาจากเหตุวางเพลิงเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงในฝรั่งเศสก่อนพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก โดยนายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ของอังกฤษ เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านการเดินทางในครั้งนี้ด้วย
เหตุวินาศกรรมครั้งนี้ถือเป็นการลูบคมหน่วยรักษาความปลอดภัยและได้บดบังความตั้งใจของฝรั่งเศสที่คาดหวังไว้ว่าพิธีเปิดโอลิมปิกจะสร้างความประทับใจให้คนทั่วโลก อีกทั้งยังสร้างความหวั่นวิตกให้กับผู้ที่เดินทางมาร่วมชมพิธีเปิด ซึ่งรวมถึงบรรดาผู้นำทั่วโลก
แม้ฝรั่งเศสยังคงเดินหน้าจัดพิธีเปิดโอลิมปิกอย่างยิ่งใหญ่และตระการตาในช่วงค่ำคืนของวันศุกร์ที่ 26 ก.ค.ตามแผน แต่ผู้คนที่เดินทางมาร่วมชมมหกรรมกีฬาระดับโลกในครั้งนี้ไม่สามารถปล่อยอารมณ์ให้สุนทรีไปกับพิธีเปิดอันงดงาม เพราะต้องระแวดระวังภัยอันตรายที่อาจมาถึงตัว นอกจากนี้ พิธีเปิดโอลิมปิกที่ปารีสยังเผชิญกับดราม่าที่ถาโถมจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะการแสดงล้อเลียนภาพวาดที่มีคุณค่าทางจิตใจของเหล่าศาสนิกชนอย่าง “The Last Supper” และการ “ขาย” บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์อย่างพระนางมารี อองตัวเนตต์
ย้อนดูดราม่าพิธีเปิดโอลิมปิก ที่ได้มาทั้งเสียงแห่งความชื่นชมและการประณาม
ฝรั่งเศสจัดพิธีเปิดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกอย่างงดงามตระการตาด้วยฉากของกรุงปารีส พร้อมด้วยการแสดงที่บอกเล่าถึงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของฝรั่งเศสได้อย่างน่าประทับใจ โดยพิธีเปิดเริ่มต้นด้วยพลุดอกไม้ไฟสีน้ำเงิน ขาว และแดงซึ่งเป็นสีธงชาติฝรั่งเศส ถูกจุดบนสะพานเอาส์เตอร์ลิทซ์ที่พาดผ่านแม่น้ำแซน ก่อนที่ขบวนเรือของนักกีฬาจากกว่า 200 ประเทศที่ล่องไปตามแม่น้ำแซน จะเคลื่อนผ่านสถานที่สำคัญต่าง ๆ ของกรุงปารีส
การแสดงในชุดแรกอยู่ภายใต้คอนเซปต์ที่ถอดมาจากคำขวัญของประเทศฝรั่งเศสคือ “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” พร้อมด้วยการแสดงประกอบเพลงดังอย่าง “Do You Hear The People Sing?” จากภาพยนตร์เรื่อง “Les Miserables” ที่นำเสนอความทุกข์ยากลำบากและการต่อสู้ของประชาชนในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส โดยการแสดงชุดนี้ผสมผสานไปกับวงดนตรีแนวเฮฟวีเมทัล และสิ่งที่เซอร์ไพรส์คนดูทั่วโลกคือการปรากฏตัวของพระนางมารี อองตัวเนตต์ ในชุดสีแดงสด สภาพหัวขาดจากการโดนประหารด้วยกิโยตินในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศสเมื่อปีค.ศ. 1789 โผล่ออกมาปิดโชว์ด้วยการถือหัวตัวเองร้องเพลงร็อกประสานกับวง Gojira ซึ่งเป็นวงดนตรีเฮฟวีเมทัลชื่อดังของฝรั่งเศส จนโชว์นี้กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในความกล้าเล่นกับประวัติศาสตร์อย่างร้อนแรง
นอกจากนี้ ยังมีเซอร์ไพรส์การแสดงจากศิลปินชื่อดังระดับโลกอย่างเซลีน ดิออน นักร้องชาวแคนาดาที่หวนกลับมาขับขานเพลงอีกครั้งหลังจากล้มป่วย และเป็นการขึ้นร้องเพลงในพิธีเปิดครั้งที่สองของเธอ นับตั้งแต่โอลิมปิกที่แอตแลนตา สหรัฐอเมริกา เมื่อปีค.ศ. 1996
แต่ที่เป็นมากกว่าเซอร์ไพรส์จนกลายเป็นดราม่าในแวดวงศาสนาคือ พิธีเปิดโอลิมปิกครั้งนี้มีการแสดงล้อเลียนภาพวาด The Last Supper ซึ่งเป็นภาพวาดอาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระเยซู ผลงานชิ้นเอกของศิลปินก้องโลก เลโอนาร์โด ดาวินชี
ฉากดังกล่าวมีกลุ่มศิลปินข้ามเพศและการปรากฏตัวของ ไดโอนีซุส เทพเจ้าแห่งไวน์ของกรีก โดยตำแหน่งการยืนของผู้แสดงดูเหมือนจงใจให้ผู้คนมองเห็นเป็นฉากในภาพ The Last Supper และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิกและกลุ่มคริสเตียน ไม่เว้นแม้แต่เหล่าคนดังที่ออกมาประณามการแสดงที่ล้อเล่นกับความศรัทธาชุดนี้ ซึ่งรวมถึงนายอีลอน มัสก์ ซีอีโอของเทสลาและสเปซเอ็กซ์ที่ตำหนิว่าการแสดงชุดนี้ไม่ให้ความเคารพต่อชาวคริสเตียน จนทำให้มีการลบคลิปพิธีเปิดโอลิมปิกออกจากบัญชีทางการโอลิมปิกที่เผยแพร่บนแพลตฟอร์มยูทูบในที่สุด
โอลิมปิกปารีส 2024 และความขัดแย้งทางการเมือง
การแข่งขันโอลิมปิกในรอบนี้มีความขัดแย้งและความวุ่นวายมาตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะความขัดแย้งทางการเมืองที่สืบเนื่องมาจากสงคราม โดยสหรัฐนำทีมเรียกร้องไม่ให้นักกีฬาจากรัสเซียและเบลารุสเข้าร่วมแข่งขันภายใต้ธงประจำชาติหรือฟังเพลงชาติของพวกเขาในระหว่างพิธีมอบเหรียญรางวัลในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปารีส อันเนื่องมาจากการที่รัสเซียบุกโจมตียูเครน
ทางด้านประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครนได้ขอให้คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) และรัฐบาลฝรั่งเศสกีดกันนักกีฬารัสเซียออกจากการแข่งขัน โดยกล่าวว่าการมีส่วนร่วมในการแข่งขันของพวกเขาจะเท่ากับเป็นการรับรองการบุกโจมตียูเครนโดยทางอ้อม
ขณะที่นายวาดิม กุตต์เซต รัฐมนตรีกระทรวงกีฬาของยูเครนเปิดเผยว่า นักกีฬาและโค้ชชาวยูเครนอย่างน้อย 220 คนเสียชีวิตในสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย และการรุกรานจากรัสเซียยังส่งผลให้ศูนย์กีฬากว่า 340 แห่งในยูเครนได้รับความเสียหายยับเยิน
“ตราบใดที่ยังมีสงครามในยูเครน นักกีฬาของรัสเซียและเบลารุสก็ไม่ควรเข้าร่วมในการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ” นายกุตต์เซตประกาศกร้าว
นอกจากนี้ การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 ยังมีอิทธิพลต่อการเมืองในฝรั่งเศสเองเช่นกัน โดยนายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสยืนยันว่าเขาจะยังไม่แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ก่อนสิ้นสุดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เพื่อหลีกเลี่ยงความโกลาหล หลังจากที่นายกาเบรียล อัตตาล ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 ก.ค. ภายหลังจากหลังจากที่พรรครัฐบาลไม่สามารถครองเสียงข้างมากในการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติ
ย้อนรอยฝรั่งเศสเคยเผชิญช่วงเวลาหฤโหด หลังรับเป็นเจ้าภาพฟุตบอลยูโร 2016
ในเดือนมิ.ย.ปีค.ศ. 2016 ฝรั่งเศสรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2016 ท่ามกลางอุปสรรคที่ถาโถมเข้ามาไม่ยั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประท้วงรุนแรงที่เกิดขึ้นในเมืองหลวงของประเทศ ซึ่งทางรัฐบาลได้ใช้มาตรการป้องกันอย่างแน่นหนา หลังจากที่เมื่อปลายปีค.ศ. 2015 ได้เกิดเหตุกราดยิงสะเทือนขวัญจนทำให้มีผู้เสียชีวิตนับร้อย
ในช่วงเวลาดังกล่าว กรุงปารีสยังต้องเผชิญกับผลกระทบของอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นมูลค่ากว่า 600 ล้านยูโรทั่วประเทศ หนำซ้ำการประท้วงแผนปฏิรูปกฎหมายแรงงานของฝรั่งเศสยังประดังเข้ามาในช่วงการแข่งขันยูโร 2016 ด้วย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอล โดยเฉพาะในเรื่องการเดินทาง และส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ เนื่องจากการแข่งขันดังกล่าวจะดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศเป็นจำนวนมาก
สำหรับมูลเหตุของการประท้วงรุนแรงในปี 2016 นั้น เกิดจากการที่ประชาชนไม่พอใจที่นายฟรองซัวส์ ออลลองด์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศสในเวลานั้น ได้เสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายแรงงาน ส่งผลให้สหภาพแรงงานที่ไม่พอใจในการแก้ไขกฎหมายแสดงจุดยืนคัดค้าน โดยร่างกฎหมายอันเป็นที่ถกเถียงกันนี้ อนุญาตให้บริษัทต่าง ๆ สามารถให้แรงงานทำงานเพิ่มขึ้นเป็น 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และ 12 ชั่วโมงต่อวัน และในสถานการณ์พิเศษ สามารถเพิ่มการทำงานเป็น 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ พร้อมเปิดทางให้บริษัทสามารถจ้างงานและปลดคนงานออกได้ง่ายขึ้น ทั้งยังอนุญาตให้ลดค่าจ้าง และผ่อนคลายเงื่อนไขบางประการเกี่ยวกับการลางานพิเศษ เช่น สิทธิลาเลี้ยงดูบุตร
อย่างไรก็ดี ฝรั่งเศสสามารถผ่านห้วงเวลาอันหฤโหดเมื่อครั้งที่เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2016 มาได้ และหลายฝ่ายได้แต่เอาใจช่วยให้การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิก 2024 เป็นไปอย่างตลอดรอดฝั่งจนถึงวันสุดท้ายในวันที่ 11 ส.ค.นี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ก.ค. 67)
Tags: In Focus, SCOOP, กีฬาโอลิมปิก, ปารีส, ฝรั่งเศส, รถไฟความเร็วสูง, วางเพลิง, โอลิมปิกปารีส 2024