ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (สแตนชาร์ต) ประกาศแผนซื้อหุ้นคืนครั้งใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ในวันนี้ (30 ก.ค.) มูลค่าสูงถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมปรับเพิ่มคาดการณ์ผลกำไรปีนี้ สะท้อนความเชื่อมั่นต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในตลาดเอเชีย และแผนการควบคุมต้นทุนอย่างเข้มงวด
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า หลังจากประกาศผลประกอบการออกมา ราคาหุ้นของสแตนชาร์ตที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงพุ่งขึ้นกว่า 4%
ผลกำไรก่อนหักภาษีในช่วงครึ่งปีแรกของสแตนชาร์ตเพิ่มขึ้น 5% แตะที่ 3.49 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้เล็กน้อย
สแตนชาร์ตซึ่งมีรายได้ส่วนใหญ่มาจากเอเชีย ปรับเพิ่มคาดการณ์กำไรจากการดำเนินงานปีนี้ โดยคาดว่าจะเติบโตมากกว่า 7% เมื่อคิดในอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ซึ่งสูงกว่าตัวเลขที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 5-7%
ช่วงที่ผ่านมา ธนาคารระดับโลกที่เน้นทำธุรกิจในเอเชียอย่างสแตนชาร์ตและคู่แข่งอย่าง HSBC ได้รับอานิสงส์จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น การเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกว่าภูมิภาคอื่น รวมถึงการสร้างความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของคนในเอเชีย
อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ธนาคารตะวันตกหลายแห่งกังวล โดยสแตนชาร์ตตั้งสำรองหนี้สูญในปีนี้ไปแล้วกว่า 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เผื่อกรณีที่อาจเกิดหนี้เสียในภาคอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ของจีน
สแตนชาร์ตคาดว่า แผนการซื้อหุ้นคืนมูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จะส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงลดลง 0.6% ทั้งนี้ อัตราส่วนดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นจาก 13.6% ในไตรมาสแรก มาอยู่ที่ 14.6% ณ สิ้นเดือนมิ.ย. ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ธนาคารตั้งไว้ที่ 13%-14%
นอกจากนี้ สแตนชาร์ตยังคงเดินหน้าแผนลดต้นทุนที่เรียกว่า “ปรับตัวเพื่อการเติบโต” (fit for growth) ซึ่งคาดว่าจะช่วยประหยัดเงินได้ประมาณ 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใน 3 ปี โดยแผนดังกล่าวครอบคลุมโครงการกว่า 200 โครงการ โดย 80% ของโครงการเหล่านี้คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนได้สูงถึง 10 ล้านดอลลาร์ต่อโครงการ
แผนลดต้นทุนดังกล่าวรวมถึงการยกเลิกระบบรายงานแบบแบ่งตามภูมิภาค การนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในบางขั้นตอน และการปรับปรุงเทคโนโลยีให้เรียบง่ายขึ้น
ในส่วนของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยสุทธิ (non-net interest income) สแตนชาร์ตมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง ซึ่งมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 25% ในช่วง 6 เดือนแรก อยู่ที่ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ครองแชมป์การเติบโตสูงสุดในบรรดาธุรกิจหลักทั้งหมดของธนาคารฯ
เงินลงทุนใหม่จากนักลงทุน (net new sales) ของธุรกิจบริหารความมั่งคั่งในช่วงเวลาดังกล่าวเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว เป็น 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่มูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการเพิ่มขึ้น 12% เป็น 1.35 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม สแตนชาร์ตพลาดโอกาสสร้างรายได้จากการซื้อขายหุ้นในไตรมาส 2 ซึ่งเป็นช่วงที่ธนาคารในวอลล์สตรีทอย่างเจพีมอร์แกน (JPMorgan) และมอร์แกน สแตนลีย์ (Morgan Stanley) มีรายได้จากธุรกิจนี้เพิ่มขึ้น 21% และ 18% ตามลำดับ โดยรายได้จากธุรกิจวาณิชธนกิจของสแตนชาร์ตลดลง 1% ในไตรมาส 2 เนื่องจากทางธนาคารฯ ไม่มีธุรกิจซื้อขายหุ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ก.ค. 67)
Tags: สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด