ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ที่มีมีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เป็นประธาน เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ด้วยการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารขนาดที่นั่งไม่เกิน 10 คนแบบไฮบริด (HEV)
โดยกำหนดเงื่อนไขสำคัญ 4 ด้าน คือ การลดการปล่อยคาร์บอน การลงทุนเพิ่มเติม การใช้ชิ้นส่วนสำคัญในประเทศ และการติดตั้งระบบความปลอดภัยของรถยนต์ เพื่อตอบโจทย์การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ การเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ รวมถึงสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อประเทศไทยสู่การเป็น “ศูนย์กลางการผลิตและการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทในระดับโลก”
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในฐานะเลขานุการบอร์ดอีวี กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวเป็นการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตให้อยู่ในระดับคงที่ในช่วงปี 2571-2575 จากเดิมอัตราภาษีจะเพิ่มขึ้น 2% ทุก 2 ปี โดยกำหนดให้บริษัทผลิตรถยนต์ HEV ที่ประสงค์จะรับสิทธิ ต้องปฏิบัติดามเงื่อนไข 4 ด้านก่อนการรับสิทธิ ดังนี้
1.ต้องปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ไม่เกิน 120 g/km
– การปล่อย CO2 ไม่เกิน 100 g/km อัตราภาษีสรรพสามิต 6%
– การปล่อย CO2 101-120 g/km อัตราภาษีสรรพสามิต 9%
2.ต้องมีการลงทุนจริงเพิ่มเติม โดยบริษัทผู้ผลิตรถยนต์และ/หรือบริษัทในเครือในประเทศไทยในช่วงปี 2567-2570 ไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท
3.ต้องมีการใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่ผลิตหรือประกอบในประเทศ โดยรถยนต์ HEV รุ่นที่ขอรับสิทธิ ต้องใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศตั้งแต่ปี 2569 และต้องใช้ชิ้นส่วนสำคัญอื่น ๆ ตั้งแต่ปี 2571 เป็นต้นต้นไป โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ชิ้นส่วนสำคัญที่มีมูลค่าสูง 3 ชิ้น ได้แก่ Traction Motor, Reduction Gear, Inverter และชิ้นส่วนสำคัญที่มีมูลค่าปานกลาง 8 ชิ้น ได้แก่ BMS, DCU, คอมเพรสเซอร์ระบบปรับอากาศสำหรับ BEV, Electical Circuitker, DC/DC Converter, High Voltage Harness, Battery Cooling System, Regene System โดยจะขึ้นกับมูลค่าการลงทุน
3.1 กรณีลงทุนเพิ่มเติมตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป สามารถเลือกได้ว่าจะใช้ชิ้นส่วนสำคัญ 3 ชิ้นในกลุ่มที่มีมูลค่าสูง หรือเลือก 2 ชิ้นในกลุ่มมูลค่าสูง และอีก 2 ชิ้นในกลุ่มมูลค่าปานกลาง หรือหากเลือก 1 ชิ้นในกลุ่มที่มีมูลค่าสูง จะต้องเลือก 4 ชิ้นในกลุ่มมูลค่าปานกลาง
3.2 กรณีลงทุนเพิ่มเติม 3,000 ล้านบาทขึ้นไป แต่ไม่ถึง 5,000 ล้านบาท จะต้องใช้ชิ้นส่วนมีมูลค่าสูงทั้ง 3 ชิ้นเท่านั้น
4.ต้องมีการติดตั้งระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ (Advanced Driver Assistance System:ADAS) ในรถยนต์ HEV รุ่นที่ขอรับสิทธิ อย่างน้อย 4 จาก 6 ระบบ ดังนี้ ระบบเบรกฉุกเฉินขั้นสูง (AEB) ระบบเตือนการชนด้านหน้าของรถ (FCW) ระบบการดูแลภายในช่องจราจร (LKAS) ระบบเตือนการออกหรือเปลี่ยนช่องจราจร (LDW) ระบบบการตรวจจับจุดบอด (BSD) และระบบบการควบคุมความเร็วของยานยนต์ (ACC)
“รถยนต์ HEV เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง ทั้งการผลิตเพื่อการส่งออกและจำหน่ายในประเทศ เพราะสามารถตอบโจทย์ทั้งเรื่องการประหยัดพลังงาน ช่วยลดปัญหาฝุ่นควัน และก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า รัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญของกลุ่มรถยนต์ HEV จึงได้ออกมาตรการนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีค่ายรถยนต์สนใจเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 5 ราย สร้างเม็ดเงินลงทุนช่วง 4 ปีข้างหน้า ไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท อีกทั้งจะช่วยเพิ่มสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ รักษาต่อยอดฐานผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย และเพิ่มความเข้มแข็งของไทยในการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ครบวงจรระดับโลกด้วย” นายนฤตม์ กล่าว
ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ มอบหมายให้บีโอไอร่วมกับกระทรวงการคลังนำมาตรการนี้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนออกประกาศต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังรับทราบผลของมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาล ซึ่งบีโอไอได้อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนโครงการในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งการผลิตยานยนต์ BEV ประเภทต่าง ๆ แบตเตอรี่และชิ้นส่วนสำคัญ รวมทั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า รวมมูลค่าเงินลงทุนกว่า 80,000 ล้านบาท ในส่วนโครงการ EV3.0 และ EV3.5 โดยกรมสรรพสามิต มีผู้เข้าร่วมจำนวน 24 แบรนด์ คิดเป็นยเครื่องยนต์ทุกประเภทรวมกันกว่า 118,000 คัน สำหรับยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV ในช่วงปี 2567 มีจำนวน 37,679 คัน เพิ่มขึ้น 19% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียน 13,634 คัน เพิ่มขึ้น 38% โดยขณะนี้มียานยนต์ BEV ทุกประเภทจดทะเบียนสะสมในประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 183,236 คัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ก.ค. 67)
Tags: นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์, บอร์ดอีวี, พิชัย ชุณหวชิร, ภาษี, ยานยนต์ไฟฟ้า