In Focus: จับตาศึกคู่ใหม่ “ทรัมป์” vs. “แฮร์ริส” ใครจะได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปีนี้ได้เปลี่ยนไปเป็นการเผชิญหน้าทางการเมืองครั้งสำคัญระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีที่เป็นตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน และนางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีคนปัจจุบันที่คาดว่าจะได้รับการเสนอชื่อเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต หลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศถอนตัวจากการแข่งขันเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (21 ก.ค.)

สำนักข่าวรอยเตอสรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวในทีมหาเสียงพรรคเดโมแครตว่า นางแฮร์ริสได้คะแนนสนับสนุนจากตัวแทนพรรคเดโมแครตในรัฐต่างๆ เกินจำนวนคะแนนที่จะต้องได้รับเพื่อเป็นผู้สมัครประธานาธิบดีพรรคเดโมแครตแล้ว และจากการรวบรวมคะแนนของ สำนักข่าวเอพี นางแฮร์ริสได้รับคะแนนตัวแทนเกิน 2,214 คะแนน หรือเกินกึ่งหนึ่งของคะแนนตัวแทนที่จำเป็นต้องได้รับ เพื่อสามารถขึ้นเป็นผู้สมัครประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครต

อย่างไรก็ตาม การรวบรวมคะแนนดังกล่าวยังไม่เป็นทางการ และตัวแทนเดโมแครตจากรัฐต่าง ๆ มีอิสระที่จะลงคะแนนเลือกใครก็ได้ให้เป็นผู้สมัครประธานาธิบดีของพรรค เมื่อถึงเวลาเลือกผู้สมัครอย่างเป็นทางการในการประชุมใหญ่พรรคเดโมแครตในวันที่ 7 ส.ค.นี้

In Focus สัปดาห์นี้ได้วิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อนที่แตกต่างกันของทรัมป์และแฮร์ริส ซึ่งจะบ่งชี้ถึงโอกาสในการคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 5 พ.ย. 2567

*จุดแข็ง-จุดอ่อนของโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน

ทรัมป์มีฐานเสียงที่มั่นคง โดยเขามีผู้สนับสนุนที่เป็นฐานเสียงที่เหนียวแน่นและมีความเชื่อมั่นในตัวเขาเป็นอย่างมาก โดยเป็นกลุ่มผู้สนับสนุนที่มีความภักดีและมีจำนวนมาก

ทรัมป์เป็นผู้ที่เรียกได้ว่ามีความสามารถในการสื่อสาร สามารถสร้างกระแสในสื่อโซเชียลมีเดีย ทำให้เขาสามารถเข้าถึงผู้สนับสนุนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังมีความโดดเด่นในด้านนโยบายเศรษฐกิจ โดยเขามักจะเน้นนโยบายที่ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและการลดภาษี ซึ่งได้รับความนิยมจากบรรดาผู้ประกอบการและนักลงทุน

แต่ทรัมป์ก็มีจุดอ่อนเช่นกัน ด้วยวัย 78 ปี ทำให้เขาอาจถูกมองเรื่องอายุที่แก่เกินไปสำหรับการบริหารประเทศ ขณะเดียวกันทรัมป์ยังมีภาพลักษณ์ที่ขัดแย้งและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากฝ่ายตรงข้าม ซึ่งอาจทำให้เขาสูญเสียเสียงสนับสนุนจากกลุ่มสายกลาง และที่สำคัญทรัมป์ยังเผชิญกับปัญหาทางด้านกฎหมาย โดยมีคดีความและการสอบสวน ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ลดทอนความน่าเชื่อถือของเขา

*จุดแข็ง-จุดอ่อนของคามาลา แฮร์ริส ตัวแทนจากพรรคเดโมแครต

นางแฮร์ริสถือเป็นตัวแทนกลุ่มผู้หญิงและชนกลุ่มน้อย เพราะเธอเป็นผู้หญิงผิวสีและมีเชื้อสายเอเชียอเมริกัน ซึ่งสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มผู้หญิงและชนกลุ่มน้อยในการมีส่วนร่วมทางการเมือง

แฮร์ริสมีความสามารถในการทำงานร่วมกับฝ่ายต่าง ๆ โดยเธอมีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับประธานาธิบดีไบเดน และมีความสามารถในการสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันภายในพรรคเดโมแครต

นางแฮร์ริสมีนโยบายที่ตอบโจทย์สังคม โดยเธอเน้นนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อชาวอเมริกัน เช่น การปรับปรุงระบบสุขภาพ การแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจจากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งหลายกลุ่ม

อย่างไรก็ตาม นางแฮร์ริสก็ยังคงมีจุดอ่อน เนื่องจากเธอยังขาดประสบการณ์ในการเลือกตั้งระดับชาติ และด้วยวัย 59 ปี แม้แฮร์ริสจะมีประสบการณ์ทางการเมือง แต่เธอยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งอาจทำให้เธอต้องเผชิญกับความท้าทายที่ไม่คุ้นเคยและอาจยากที่จะรับมือ

นอกจากนี้ นางแฮร์ริสยังเคยได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายตรงข้ามเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการทำงานและการตัดสินใจของเธอในช่วงที่ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีด้วย

*ผลโพลล่าสุดชี้ “แฮร์ริส” มีคะแนนนำ “ทรัมป์”

ผลสำรวจความคิดเห็นโดยรอยเตอร์/อิปซอสซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 22-23 ก.ค.ที่ผ่านมาพบว่า นางแฮร์ริสซึ่งมีแนวโน้มจะได้เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตในการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐนั้น มีคะแนนนำทรัมป์ที่ 44% ต่อ 42% โดยถือเป็นโพลแรกนับตั้งแต่ทรัมป์ได้รับตำแหน่งเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันอย่างเป็นทางการเมื่อวันพฤหัสบดี (18 ก.ค.) และหลังจากปธน.ไบเดนประกาศถอนตัวจากการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (21 ก.ค.)

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับผลสำรวจเมื่อวันที่ 15-16 ก.ค. แฮร์ริสกับทรัมป์มีความนิยมเท่ากันที่ 44% ส่วนการสำรวจเมื่อวันที่ 1-2 ก.ค. ทรัมป์มีคะแนนนำอยู่ 1%

อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์และคามาลา แฮร์ริสยังคงเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอนและยากจะคาดเดา ชัยชนะในการเลือกตั้งจะขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย รวมถึงความสามารถในการสื่อสารกับประชาชน นโยบายที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง และการจัดการกับประเด็นทางการเมืองที่เกิดขึ้นในระหว่างการหาเสียงซึ่งเหลือเวลาอีกแค่เพียง 100 กว่าวันก่อนจะถึงวันเลือกตั้ง

การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการเผชิญหน้าทางการเมืองที่น่าสนใจและมีผลกระทบอย่างมากต่ออนาคตของสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองระหว่างประเทศ เราคงต้องตามลุ้นกันต่อไปว่าใครจะได้ขึ้นเป็นผู้นำคนใหม่ของสหรัฐ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ก.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top