นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เปิดเผยว่า ในวันนี้ บริษัทฯ ได้ลงนามสัญญาจ้าง บมจ.ช.การช่าง (CK )ให้เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการก่อสร้างงานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันตก บางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย วงเงิน 9 หมื่นล้านบาท และงานจัดหา ติดตั้งระบบรถไฟฟ้าสำหรับทั้งโครงการ โดยช่วงตะวันออกจากศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท รวมวงเงิน 1.2 แสนล้านบาท
โดยในส่วนงานโยธา รฟม.จะจ่ายคืนพร้อมดอกเบี้ยให้กับบริษัท ซึ่งจะเริ่มทยอยจ่ายหลังปีที่ 2 ของงานก่อสร้างไป 6 ปีโดยแต่ละงวดจะจ่ายตามความก้าวหน้าของงานก่อสร้าง ขณะที่ BEM จะจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กับ รฟม.จำนวน 1 หมื่นล้านบาทตลอดอายุสัญญาสัมปทานตามข้อเสนอของ BEM เริ่มจ่ายตั้งแต่ปีที่ 11-30 หรือเฉลี่ยปีละ 500 ล้านบาท ซึ่งจะไม่กระทบรายได้ของ BEM
ทั้งนี้ การเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันออกมีกำหนดแล้วเสร็จภายใน 3 ปี 6 เดือน ซึ่ง BEM มั่นใจว่าจะสามารถเปิดให้บริการส่วนนี้ได้ก่อนกำหนดอย่างแน่นอน หรือประมาณปลายปี 70 และช่วงตะวันตก มีกำหนดแล้วเสร็จภายใน 6 ปี โดยมีระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี นับจากเริ่มเปิดให้บริการช่วงตะวันออก
“BEM มีความพร้อมที่จะดำเนินโครงการตามที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล โดยในส่วนของการก่อสร้างงานโยธาช่วงตะวันตก มีพันธมิตรที่แข็งแกร่งอย่าง CK ที่มีประสบการณ์ ความรู้ ความชำนาญในงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อน โดย CK ได้จัดเตรียมทีมงานและเครื่องจักรอุปกรณ์พร้อมเข้าดำเนินงานได้ทันที จึงมั่นใจได้ว่าจะสามารถดำเนินงานได้แล้วเสร็จตามกำหนดการ อย่างมีคุณภาพและให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยสูงสุด”
ส่วนการจัดหา ติดตั้งระบบรถไฟฟ้านั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับผู้ผลิตเพื่อสั่งซื้อรถไฟฟ้าแบบล็อตใหญ่รวม 53 ขบวน แบ่งเป็น รถไฟฟ้าที่ใช้ในสายสีส้ม 32 ขบวน โดยจะใช้ 16 ขบวนในการเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันออกก่อน และรถไฟฟ้าสำหรับบริการในโครงการสายสีน้ำเงินเพิ่มเติมอีก 21 ขบวน โดยบริษัทให้ความสำคัญกับคุณภาพและความปลอดภัยเป็นลำดับแรก เห็นได้จากในโครงการที่ผ่านมาบริษัทเลือกใช้ผู้ผลิตจากประเทศเยอรมันและญี่ปุ่นเป็นหลัก คาดจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้
บริษัทฯ คาดการณ์จำนวนผู้โดยสารในปีแรกของการให้บริการช่วงตะวันออก จะมีประมาณ 1.2 แสนคน/วัน และเมื่อเปิดตลอดเส้นทางคาดว่าจะมี 3 แสนคน/วัน สำหรับค่าโดยสารนั้นจะเริ่มต้นที่ 17-44 บาท จากเดิมตามสัญญาเริ่มต้นเก็บ 20-62 บาท โดยจะปรับขึ้นค่าโดยสารทุก 2 ปี ตามดัชนีราคาผู้บริโภค และเมื่อครบ 10 ปีจะปรับค่าโดยสารตามสัญญา
“ปีนี้ถือเป็นปีที่ดีของ BEM มีกำไรเติบโตจากการบริหารโครงการสัมปทานที่มีอยู่ทั้งรถไฟฟ้าและทางพิเศษ หลังจากกำไรที่เคยลดลงไปเมื่อช่วงโควิด-19 ตอนนี้กลับคืนมาแล้ว และยังทำกำไร New High ในทุกปีๆ จากจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ และต้นทุนทางการเงินที่อยู่ในระดับต่ำ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ผลประกอบการของบริษัทฯ เติบโตอย่างต่อเนื่อง”
นายสมบัติ กล่าวว่า การได้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มถือเป็น New S-Curve ให้กับ BEM ช่วยเพิ่มความสามารถในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง หนุนรายได้ให้กับสัมปทานตัวเดิมอย่างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เพราะจะส่งผู้ใช้บริการเข้ามาในระบบเพิ่มขึ้น โดยตั้งแต่เปิดการเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันออกนั้นจะมีผู้โดยสารประมาณ 80% เชื่อมเข้าสู่รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินทันที อีกทั้งยังทำให้เกิดการบริหารต้นทุนได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับขนาดของธุรกิจ (Economy of Scale) และทำให้บริษัทเติบโตอย่างก้าวกระโดด
“เราต่อสัญญาได้ทุกเส้น ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ทางด่วน เราไม่ใช่ BEM ธรรมดา แต่เป็น BEM ที่มี Growth Story…เราสามารถทำกำไรนิวไฮได้ในปีนี้ และนิวไฮไปเรื่อยๆ ด้วย Infrastructure ด้วยผู้โดยสารมากขึ้น”
ส่วนโครงการทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการลดภาระการลงทุนของภาครัฐ จึงเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ขณะเดียวกันโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ที่ภาครัฐอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมในการคัดเลือกเอกชนบริหารงานเดินรถก็คาดว่าจะสรุปได้ภายในสิ้นปีนี้เช่นกัน โดย BEM พร้อมที่จะเจรจาในทุกรูปแบบ
สำหรับนโยบายตั๋วร่วมนั้น BEM พร้อมที่จะให้ความร่วมมือโดยปัจจุบันบริษัทฯ ได้เตรียมระบบ EMV รองรับการใช้งานไว้แล้ว ส่วนเรื่องค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายถือเป็นเรื่องที่ประชาชนได้ประโยชน์ BEM ก็พร้อมให้ความร่วมมือและเจรจาเหมือนกับโครงการทางด่วนชั้นที่ 2 เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และเป็นไปตามหลักการที่คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ
งานโยธาสายสีส้มฝั่งตต.คาดเริ่มงานส.ค.
นายพงษ์สฤกดิ์ ตันติสุวาณิชย์ ประธานกรรมการบริหาร BEM กล่าวว่า งานโยธาของสายสีส้มฝั่งตะวันตกคาดว่าจะเริ่มได้ 1 ส.ค.นี้ จากที่ รฟม.ออกหนังสือเริ่มงาน (NTP) โดยก่อสร้างรูปแบบ Design and Build ปีแรกถึง 1 ปีครึ่งอยู่ในช่วงออกแบบ และอีก 3 ปีเป็นช่วงก่อสร้าง เจาะอุโมงค์ และอีก 1 ปีครึ่งจะเป็นช่วงตกแต่งสถานี ชานชาลา ติดตั้งระบบรถไฟฟ้า ซึ่งในช่วงกลางปีที่ 5 จะเริ่มทดสอบระบบรถไฟฟ้าทั้งเส้นทาง ในปีที่ 6 เตรียมพร้อมเปิดเดินรถ
งานก่อสร้างจะเป็นใต้ดินทั้งหมด 11 สถานี ที่เป็นย่านชุมชน สถานที่โบราณ สนามหลวง ศิริราช ทำให้งานก่อสร้างถือว่ายากมาก แต่ละสถานีมีคาแรคเตอร์ไม่เหมือนกัน
นายสมบัติ กล่าวเสริมว่า งานก่อสร้างที่กลุ่ม CK ดำเนินการเองทำให้มีการออกแบบเพื่อจัดวางส่วนที่เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ได้ดีขึ้นกว่ารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็น ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.ค. 67)
Tags: BEM, CK, ช.การช่าง, ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ, รถไฟฟ้าสายสีส้ม