นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดส่งแรงงานไทยไปสาธารณรัฐเกาหลี ภายใต้ระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (Employment Permit System : EPS) ฉบับที่ 7 เนื่องจากร่างบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับล่าสุด ที่ลงนามไปเมื่อวันที่ 6 ก.ย.62 ได้สิ้นสุดการบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 5 ก.ย.64 แต่ยังคงมีผลบังคับใช้ระหว่างที่มีการดำเนินการเพื่อต่ออายุ เว้นแต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะร้องขอให้มีการสิ้นสุดการมีผลบังคับใช้
“ที่ผ่านมา มีการร่วมลงนามภายใต้ระบบ EPS มาแล้วจำนวน 6 ฉบับ ตั้งแต่ฉบับแรกในปี 2547” นายคารม กล่าว
ทั้งนี้ กรอบความร่วมมือดังกล่าว เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่เกาหลี ตั้งแต่กระบวนการสรรหาแรงงาน การทดสอบภาษา และการทดสอบฝีมือแรงงาน การกำหนดค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงาน การตรวจลงตราและการเข้าเมือง การทำงานและการพำนักในเกาหลี ตลอดจนการเดินทางกลับประเทศไทยเมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่กำหนด เพื่อป้องกันการอยู่ในเกาหลีอย่างผิดกฎหมาย
สำหรับสถานการณ์จนถึงวันที่ 22 ม.ค.67 มีการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่เกาหลีรวมทั้งสิ้น 94,764 คน โดยทำงานในภาคอุตสาหกรรม 68,357 คน (72.13%) ภาคเกษตร-ปศุสัตว์ 10,450 คน (11.03%) ภาคก่อสร้าง 9,326 คน (9.84%) ภาคประมง 23 คน (0.02%) และได้รับการคัดเลือกให้ไปทำงานซ้ำ (Re-Entry) จำนวน 6,608 คน (6.97%)
โดยกระทรวงแรงงาน ได้เจรจาเพื่อจัดทำบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับนี้มาอย่างต่อเนื่อง มีสาระสำคัญเช่นเดียวกับทั้ง 6 ฉบับที่ผ่านมา แต่เพิ่มรายละเอียดบางประการ เช่น ให้กระทรวงแรงงาน และการจ้างงานแห่งสาธารณรัฐเกาหลี สามารถร้องขอให้กระทรวงแรงงานสนับสนุนสิ่งที่จำเป็นจากต่างประเทศให้แก่แรงงานเมื่อเดินทางถึงเกาหลี ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ เช่น โรคระบาด เพื่อให้เกิดความมั่นใจในความต่อเนื่องของกระบวนการ EPS และเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อภายใต้สถานการณ์นั้น
“คณะทำงานพิจารณาและจัดทำร่างข้อตกลง ที่เกี่ยวกับบันทึกความเข้าใจการจัดส่งแรงงานไทยไปเกาหลี ภายใต้ระบบ EPS ได้พิจารณาบันทึกความเข้าใจฯ ที่สาธารณรัฐเกาหลีเสนอขอปรับแก้จนได้ข้อยุติแล้ว รวมทั้งได้แจ้งให้ฝ่ายสาธารณรัฐเกาหลีทราบแล้ว” นายคารม กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.ค. 67)
Tags: MOU, กระทรวงแรงงาน, คารม พลพรกลาง, ประชุมครม., ผีน้อย, เกาหลี, แรงงาน