BAY คาดกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 36.00-36.50 ผันผวนตามการเมืองสหรัฐฯ

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ประเมินกรอบเงินบาทในสัปดาห์นี้ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 36.00-36.50 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 36.27 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 35.82-36.28 บาท/ดอลลาร์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ระหว่างสัปดาห์ เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 4 เดือน

ทั้งนี้ เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ ยกเว้นเงินเยน และฟรังก์สวิสในสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางการซื้อขายผันผวน โดยในช่วงแรก ดัชนีดอลลาร์ร่วงลงแตะจุดต่ำสุดในรอบ 4 เดือน ขณะอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯอีกครั้งให้สัมภาษณ์ว่า ปัญหาเงินดอลลาร์แข็งค่า ส่งผลต่อภาคการผลิตของสหรัฐฯ

ทางด้านเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) หลายราย ส่งสัญญาณว่าอาจใกล้ที่จะลดดอกเบี้ย ส่วนธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) คงดอกเบี้ยไว้ที่ 3.75% ตามคาด โดยอีซีบีเปิดกว้างสำหรับการตัดสินใจด้านนโยบายในการประชุมเดือนก.ย. และปรับลดมุมมองที่มีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซน อีกทั้งคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอลงต่อไป ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นไทย 1,755 ล้านบาท แต่ขายพันธบัตรสุทธิ 1,122 ล้านบาท ตามลำดับ

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ กล่าวถึงสถานการณ์ตลาดในสัปดาห์นี้ว่า ตลาดจะติดตามข้อมูลจีดีพีไตรมาส 2 และเงินเฟ้อ PCE เดือนมิ.ย.ของสหรัฐฯ ขณะที่นักลงทุนอาจปรับสถานะเพื่อประเมินความเสี่ยงใหม่ ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมืองในสหรัฐฯ อนึ่ง แม้ตลาดคาดว่ามีโอกาสสูงที่อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ จะชนะการเลือกตั้งในเดือนพ.ย. และคาดว่าสหรัฐฯ จะดำเนินนโยบายการค้าแบบแข็งกร้าวมากขึ้น อีกทั้งการกู้ยืมภาครัฐฯ จะจำกัดขาลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐฯ แต่ในระหว่างนี้ เราคาดว่าเงินเฟ้อและการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงอย่างชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เฟดสามารถเริ่มต้นวัฎจักรการลดดอกเบี้ยในอีกไม่ช้า

โดยนักลงทุนคาดว่า เฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย. ในภาวะเช่นนี้ เราประเมินว่าราคาสินทรัพย์ต่างๆ อาจปรับตัวผันผวน ขณะที่ปัจจัยความไม่แน่นอนมีมากขึ้น

ส่วนเงินเยนฟื้นตัวจากพัฒนาการด้านเงินเฟ้อของสหรัฐฯ รวมถึงการที่ตลาดสงสัยว่าทางการญี่ปุ่นปรับกลยุทธ์แทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน โดยเราคาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) จะขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมสิ้นเดือนก.ค.นี้ ซึ่งจะช่วยหนุนค่าเงินเยนอีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ดี หากบีโอเจสร้างความผิดหวังปลายเดือนนี้ เงินเยนจะอ่อนค่าลง และอาจนำมาซึ่งการเข้ามาพยุงค่าเงินในตลาดรอบใหม่

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.ค. 67)

Tags: , , , ,
Back to Top