กูเกิลประกาศในวันจันทร์ (22 ก.ค.) ว่า บริษัทจะเก็บคุกกี้ของบุคคลที่สาม (third-party cookies) ในเบราว์เซอร์โครม (Chrome) เอาไว้ตามเดิม หลังจากให้คำมั่นมาหลายปีว่าจะเลิกใช้คุกกี้ที่ออกแบบมาเพื่อติดตามผู้ใช้งานบนอินเทอร์เน็ต
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กูเกิลเปลี่ยนใจหลังเกิดความกังวลในหมู่ผู้ลงโฆษณา ซึ่งเป็นแหล่งรายได้ที่ใหญ่ที่สุดของกูเกิล โดยผู้ลงโฆษณาเกรงว่าการลบคุกกี้ออกจากเบราว์เซอร์จะจำกัดขีดความสามารถในการรวบรวมข้อมูลเพื่อปรับแต่งโฆษณา และทำให้ผู้ลงโฆษณาต้องพึ่งพาฐานข้อมูลผู้ใช้ของกูเกิลเพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับดูแลด้านการแข่งขันและตลาดของอังกฤษ (CMA) ยังได้ตรวจสอบแผนดังกล่าวของกูเกิล เนื่องจากมีความกังวลว่าจะขัดขวางการแข่งขันในการโฆษณาดิจิทัล
นายแอนโทนี ชาเวซ รองประธานโครงการไพรเวซี แซนด์บอกซ์ (Privacy Sandbox) ที่สนับสนุนโดยกูเกิล โพสต์ผ่านบล็อกว่า “แทนที่จะลบคุกกี้ของบุคคลที่สาม เราจะนำเสนอประสบการณ์ใหม่ในโครมที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถตัดสินใจเลือกรูปแบบการท่องเว็บ และปรับเปลี่ยนตัวเลือกได้ตลอดเวลา”
รายงานระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2562 กูเกิลได้ดำเนินโครงการไพรเวซี แซนด์บอกซ์ เพื่อยกระดับความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์ไปพร้อมกับการรองรับธุรกิจดิจิทัล โดยมีเป้าหมายหลักคือการเลิกใช้คุกกี้ของบุคคลที่สาม
ทั้งนี้ คุกกี้คือไฟล์ข้อมูลขนาดเล็กที่ช่วยให้เว็บไซต์และผู้ลงโฆษณาสามารถระบุผู้ใช้เว็บไซต์แต่ละรายและติดตามพฤติกรรมการท่องเว็บได้ อย่างไรก็ตาม คุกกี้อาจถูกนำมาใช้สอดส่องข้อมูลแบบไม่พึงประสงค์ได้เช่นกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.ค. 67)
Tags: Chrome, Google, กูเกิล, ข้อมูลคุกกี้, อินเทอร์เน็ต