ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มเข้าสู่ช่วงงดเว้นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงิน (Blackout Period) ในวันพรุ่งนี้ (20 ก.ค.) ก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ในวันที่ 30-31 ก.ค.
กฎระเบียบของเฟดได้ระบุห้ามเจ้าหน้าที่เฟดแสดงความเห็นหรือให้สัมภาษณ์ในช่วง Blackout Period เกี่ยวกับนโยบายการเงิน โดยเริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่สองก่อนที่การประชุม FOMC จะเริ่มขึ้น และสิ้นสุดในวันพฤหัสบดีหลังการประชุม FOMC เพื่อป้องกันไม่ให้สาธารณชนตีความว่าเป็นการบ่งชี้การดำเนินการด้านอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมนโยบายการเงินที่จะมาถึง
FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ โดยจะเกิดขึ้นในเดือนก.ย., พ.ย. และธ.ค. จากเดิมที่คาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้งในเดือนก.ย.และธ.ค. หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่ต่ำกว่าคาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด
นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวว่า เฟดจะไม่รอจนกว่าเงินเฟ้อปรับตัวสู่เป้าหมาย 2% ก่อนที่จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ย
นายพาวเวลกล่าวถ้อยแถลงดังกล่าวที่สมาคมเศรษฐกิจแห่งวอชิงตัน ดีซี (Economic Club of Washington, D.C.) เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการย้ำถ้อยแถลงที่เขากล่าวในแถลงการณ์รอบครึ่งปีว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ส่วนนายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ หนึ่งในสมาชิกคณะกรรมการผู้ว่าการเฟด และเป็นสมาชิกถาวรของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) ส่งสัญญาณบ่งชี้ว่า เฟดเตรียมปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ย. ตราบใดที่ไม่มีเรื่องที่จะสร้างความประหลาดใจครั้งใหญ่เกี่ยวกับเงินเฟ้อและการจ้างงาน
“ผมเชื่อว่าข้อมูลในขณะนี้มีความสอดคล้องกับการที่เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวโดยไม่ประสบภาวะถดถอย และผมจะดูข้อมูลต่อไปอีก 2-3 เดือนเพื่อให้มีความเชื่อมั่นมากขึ้นต่อมุมมองดังกล่าว”
“ดังนั้น แม้ผมไม่เชื่อว่าเราได้ไปถึงจุดหมายปลายทางสุดท้ายแล้ว แต่ผมก็เชื่อว่าเรากำลังเข้าใกล้เวลาที่เหมาะสมในการใช้นโยบายปรับลดอัตราดอกเบี้ย” นายวอลเลอร์กล่าว
ถ้อยแถลงของนายวอลเลอร์บ่งชี้ว่า เฟดจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ ขณะที่มีแนวโน้มในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ย.
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.ค. 67)
Tags: Blackout Period, Fed, FOMC, ธนาคารกลางสหรัฐ, นโยบายการเงิน, สหรัฐ, เฟด