ผู้เชี่ยวชาญกังวลกระบวนการฆ่าและกำจัดสัตว์เพื่อป้องกันไข้หวัดนก หวั่นทำคนงานติดเชื้อ

การแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกในฟาร์มสัตว์ปีกและฟาร์มโคนม ได้เพิ่มความกังวลให้กับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพว่ากระบวนการฆ่าและกำจัดสัตว์ปีกที่ติดเชื้ออาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อมนุษย์และปศุสัตว์

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างอิงข้อมูลสัมภาษณ์กับเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไข้หวัดนกว่า กรณีล่าสุดจากฟาร์มที่ทิ้งซากสัตว์ในหลุมฝังกลบและใช้วิธีการฆ่าไก่ที่ทำให้คนงานใกล้ชิดกับไวรัส แสดงให้เห็นถึงวิธีที่กระบวนการกำจัดสัตว์ที่ติดเชื้อนั้นสามารถก่อให้เกิดการแพร่ระบาดต่อไปได้อย่างไร

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐ เปิดเผยว่า ความร้อนจัดทำให้คนงานต้องเผชิญความยากลำบากในการสวมอุปกรณ์ป้องกัน ในระหว่างปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อฆ่าไก่ในฟาร์มไข่แห่งหนึ่งในรัฐโคโลราโด ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้มีผู้ติดเชื้อไข้หวัดนก 5 ราย ซึ่งถือเป็นคลัสเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐ

นิราฟ ชาห์ รองผู้อำนวยการหลักของ CDC ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า สถานการณ์ดังกล่าวยิ่งตอกย้ำถึงความจำเป็นในการใช้อุปกรณ์ป้องกันอย่างเป็นระบบในการฆ่าสัตว์ที่ติดเชื้อ

นอกจากนี้ ดร.ไมเคิล ออสเตอร์โฮล์ม ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อแห่งมหาวิทยาลัยมินนิโซตา กล่าวถึงกระบวนการฆ่าสัตว์นี้ว่า คนงานที่ฆ่าไก่มีความเสี่ยงที่จะสูดดมไวรัสเข้าไป โดยคนงานนั้นมีอาการไม่รุนแรง เช่น ตาแดง และมีปัญหาในระบบทางเดินหายใจ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.ค. 67)

Tags:
Back to Top