IMF ชี้สหรัฐควรขึ้นภาษี แนะเฟดรอลดดอกเบี้ยช่วงปลายปี 67

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุเมื่อวันพฤหัสบดี (18 ก.ค.) ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไม่ควรลดอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึง “ปลายปี 2567” และรัฐบาลจำเป็นต้องขึ้นภาษีเพื่อชะลอการเติบโตของหนี้สาธารณะ แม้แต่ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ 400,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็ควรขึ้นภาษีด้วย

ข้อเสนอดังกล่าวปรากฏในรายงานของเจ้าหน้าที่จากการทบทวนนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐประจำปีของ IMF หรือ “Article IV” ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี

IMF ได้เน้นย้ำในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาถึงความจำเป็นในการดำเนินนโยบายการคลังที่รอบคอบมากขึ้น เนื่องจากการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องแม้เศรษฐกิจจะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ประกอบกับพรรครีพับลิกัน (Republican) และพรรคเดโมแครต (Democrat) กำลังจัดทำนโยบายภาษีและการใช้จ่ายก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพ.ย.นี้

นายปิแอร์-โอลิวิเยร์ กูรินชาส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อวันอังคาร (16 ก.ค.) ว่า เฟดไม่จำเป็นต้องรีบผ่อนคลายนโยบายการเงิน เนื่องจากตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง

อย่างไรก็ตาม Article IV ระบุว่า การเปลี่ยนมาปรับลดดอกเบี้ยควรเกิดขึ้นใน “ปลายปี 2567” เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ตัวเลขเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นแบบผิดคาด โดยรายงานดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าปลายปีนี้คือเดือนไหน

ทั้งนี้ การประชุมกำหนดนโยบายครั้งต่อไปของเฟดคือวันที่ 30-31 ก.ค. และครั้งต่อ ๆ ไปคือวันที่ 17-18 ก.ย., 6-7 พ.ย. (หลังการเลือกตั้งสหรัฐ) และ 17-18 ธ.ค.

“เนื่องจากยังมีความเสี่ยงว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้นซึ่งเห็นได้ชัดจากข้อมูลที่เกิดขึ้นเมื่อต้นปีนี้ จึงควรลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงหลังจากที่มีหลักฐานชัดเจนยิ่งขึ้นในข้อมูลที่แสดงว่า อัตราเงินเฟ้อกำลังกลับสู่เป้าหมาย 2% ของ FOMC (คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด) อย่างยั่งยืน”

IMF ระบุว่า อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของสหรัฐคาดว่าจะยังคงสูงกว่าตัวเลขประมาณการในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ในระยะปานกลาง โดยจะแตะที่ 109.5% ภายในปี 2572 เทียบกับ 98.7% ในปี 2563

“การขาดดุลและหนี้ระดับสูงเช่นนี้สร้างความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกเพิ่มมากขึ้น” IMF กล่าว พร้อมเสริมว่าจำเป็นต้องมีการขึ้นภาษีแบบก้าวหน้า (progressive tax) รวมถึงผู้ที่มีรายได้น้อยกว่า 400,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีด้วย และยกเลิกรายจ่ายทางภาษีในวงกว้าง

อนึ่ง ปธน.ไบเดนเสนอให้ขึ้นอัตราภาษีสำหรับบริษัทและชาวอเมริกันที่ร่ำรวย แต่ได้ให้คำมั่นว่าจะไม่ขึ้นภาษีสำหรับครัวเรือนที่มีรายได้ต่อปีต่ำกว่า 400,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในทางตรงกันข้าม นายโดนัลด์ ทรัมป์ คู่แข่งจากพรรครีพับลิกัน กล่าวว่าเขาต้องการคงนโยบายลดหย่อนภาษีที่ออกมาในช่วงที่นายทรัมป์ดำรงตำแหน่งปธน.ในปี 2560 และอาจลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมสำหรับชาวอเมริกันชนชั้นกลางและบริษัทต่าง ๆ

การลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีกำหนดจะหมดอายุในปลายปี 2568 หลังจากนั้น อัตราภาษีจะกลับไปสู่ระดับก่อนปี 2560 เว้นแต่สภาคองเกรสจะมีมติขยายเวลาหรือปรับเปลี่ยน ด้านสำนักงานงบประมาณสภาคองเกรสคาดการณ์ว่า การขยายเวลาการลดหย่อนภาษีจะทำให้การขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นอีก 4.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายใน 10 ปี

IMF ซึ่งมักกำหนดให้ประเทศที่กู้ยืมเงินจาก IMF ต้องดำเนินนโยบายการคลังอย่างรอบคอบนั้น ได้แนะนำทางเลือกหลายประการเพื่อลดการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐ รวมถึงแนะให้ยกเลิกการลดหย่อนภาษีและการยกเว้นภาษีบางประการที่มีมานานซึ่ง IMF กล่าวว่า “กำหนดเป้าหมายได้ไม่ดี”

ตัวอย่างของสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่าง ๆ ที่ IMF เห็นว่าควรยกเลิก ได้แก่ การยกเว้นภาษีสำหรับมูลค่าของแผนประกันสุขภาพที่นายจ้างจัดหาให้ การยกเว้นภาษีกำไรจากการขายที่อยู่อาศัยหลัก การนำดอกเบี้ยจำนองไปหักลดหย่อนภาษี และการนำภาษีของรัฐและท้องถิ่นไปหักลดหย่อนภาษีรัฐบาลกลาง เป็นต้น สิทธิประโยชน์เหล่านี้คิดเป็นประมาณ 1.4% ของ GDP ของสหรัฐต่อปี

IMF กล่าวว่า สหรัฐควรพิจารณายกเลิกข้อกำหนด “ส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุน” (Carried interest) ซึ่งเปิดช่องให้รายได้จากหุ้นส่วนการลงทุน (investment partnership income) ถูกเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าเหมือนกับภาษีกำไรจากสินทรัพย์ประเภททุน (capital gains) แทนที่จะเสียภาษีในอัตราปกติเหมือนรายได้ทั่วไป พร้อมเสริมว่าควรขึ้นอัตราภาษีนิติบุคคล และปรับเปลี่ยนระบบภาษีดังกล่าวไปใช้ระบบภาษีกระแสเงินสด (Cash Flow Tax)

นอกจากนี้ IMF ยังแนะนำให้รัฐบาลสหรัฐขึ้นภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเบนซินและดีเซล ซึ่งไม่เคยขึ้นมานับตั้งแต่ปี 2536

ในส่วนของรายจ่าย IMF แนะนำให้กำหนดผลประโยชน์ประกันสังคมให้สอดคล้องกับดัชนีราคาผู้บริโภคแบบเชื่อมโยง (chained consumer price index) และแนะให้รายได้ส่วนที่มากกว่า 250,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีต้องเสียภาษีค่าจ้าง

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.ค. 67)

Tags: , , , , , , , , ,
Back to Top