CryptoShot: Influ สายคริปโทฯ ใคร ๆ ก็เป็นได้จริงหรอ??

เมื่ออาชีพในฝันของคน Gen Z หลายคนอยากเป็น Key Opinion Leader (KOL) หรือ Influencer ในสายงานที่ตัวเองชื่นชอบ แต่หากเป็นสายลงทุนที่อาจสร้างความเสียหายในวงกว้างได้ จำเป็นต้องมีการจำกัดหรือกฎดกณฑ์ข้อบังคับในการเป็น KOL/Influ หรือไม่

แล้วถ้า Content หรือเนื้อหาที่เราโพสต์ผ่านช่องทางออนไลน์กลายเป็นการชักชวนให้ไปลงทุน ซึ่งผิดกฎหมาย เราะจะทำอย่างไร??

*Influ สายคริปโทฯ ใคร ๆ ก็เป็นได้จริงหรอ??

หากถามถึงอาชีพในฝันของเด็กรุ่นใหม่หลายคน แน่นอนว่า KOL หรือ Influencer มักจะเป็นหนึ่งในคำตอบของใครหลายคน และ KOL/Influencer สายลงทุนในคริปโทฯ ก็มาแรงเช่นกัน แต่ KOL หรือ Influ สายคริปโทฯ ใคร ๆ ก็เป็นได้จริงหรือ? เวลาโพสต์ภาพกราฟ โพสต์โชว์กำไร จะถือเป็นการชักชวนให้คนอื่นไปลงทุนหรือไม่? แล้วถ้ามีคนลงทุนตามเราแล้วขาดทุนจะทำอย่างไร?

ล่าสุดทางคอมมูนิตี้ได้มีการจัดงาน Glueru Party ที่เชิญเหล่ากูรูในวงการคริปโทฯ และโลกการลงทุนมาพูดคุย ทั้งนายพีรพัฒน์ หาญคงแก้ว เจ้าของเพจ Blockchain Review – บล็อกเชนรีวิว ร่วมกับ ผศ.อุดมศักดิ์ รักวงษ์วาน เจ้าของเพจ “ติดเล่า เรื่องลงทุน” และอาจารย์ตั๊ม พิริยะ สัมพันธารักษ์ ผู้ก่อตั้งและกรรมการบริหาร บริษัท โฉลก ดอท คอม ร่วมแสดงความเห็นข้อกฎหมายที่เป็นอนาคตของ KOL และ Influencer

โดยทั้ง 3 ได้แชร์ว่า ทุกคนสามารถเป็น KOL ได้ แต่ต้องยอมรับว่าแนวคิดของเราอาจส่งผลต่อแนวคิดของผู้อื่น ดังนั้น ควรจะพูดในเรื่องที่ตัวเองเข้าใจและมีความรู้จริง ๆ เท่านั้น

ส่วนของการโพสต์เนื้อหา โพสต์กราฟ โชว์กำไร ลงช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ หากมีคนซื้อตามแล้วเกิดความเสียหายเป็นจำนวนมาก และผู้โพสต์กระทำเป็นธุรกิจก็สามารถโดนข้อกล่าวหาหรือโดนฟ้องร้องได้เช่นกัน

ทั้งนี้ การทำ Content ที่ดึงดูดผู้อ่านแล้วไม่ผิดเกณฑ์ ก.ล.ต. หลัก ๆ คือ “ไม่มีความตั้งใจทำให้ผู้อื่นเสียหาย ให้ข้อมูลตามความคิดเห็นแบบมีข้อมูลประกอบ นำเสนอข้อมูลด้วยความจริงใจที่สุด” และ หาก Crypto KOL/Influencer ที่ต้องการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างถูกต้องควรขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจให้เรียบร้อย ก็จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เพิ่มความน่าเชื่อถือให้แก่องค์กร

เชื่อว่าเนื้อหาตรงนี้จะเป็นส่วนหนึ่ง แก่ผู้ต้องการเป็น KOL หรือ Influ สายลงทุน ไม่มากก็น้อย

*ก.ล.ต. เปิด Hearing ล่าสุด งานนี้ใครได้ใครเสีย!!

เมื่อวันที่ 16 ก.ค. ที่ผ่านมา ทางสำนักงาน ก.ล.ต. เปิด Hearing เกี่ยวกับ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล ฉบับที่ 147/2567 เพื่อยกระดับการกำกับดูแลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเนื้อหาใจความหลักแบ่งออกเป็น 4 ข้อ

ข้อ 1. ปรับปรุงขอบเขตนิยามของสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมีลักษณะเป็น crypto asset ตามแนวทางสากล โดยให้อำนาจคณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนดประเภทสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล เพื่อความเหมาะสมในการกำกับดูแล นั่นหมายความว่า ไม่ใช่สินทรัพย์ดิจิทัลทุกตัวที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ต้องรอทาง ก.ล.ต. ประกาศอีกที อาจจะมีเพิ่ม อาจจะมีลดก็ได้

ข้อ 2. ปรับปรุงหลักการการกำกับดูแลของการออกและเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัลในตลาดแรก (ซึ่งไม่มีลักษณะของการระดมทุนและไม่มีความคาดหวังความสำเร็จของโครงการ) ให้สอดคล้องกับขอบเขตสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแล โดยกำหนดให้ต้องยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัล (แบบ filing) และร่างหนังสือชี้ชวน ตามหลักการเปิดเผยข้อมูลสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุน (disclosure based) แทนการได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. พร้อมทั้งยกเลิกการกำหนดให้ต้องเสนอขายผ่าน ICO portal เพื่อให้การกำกับดูแลในการเสนอขายมีความเหมาะสมและได้สัดส่วนกับความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัลที่ออกเสนอขาย

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ทาง ก.ล.ต. เป็นผู้อนุมัติใบอนุญาต ICO Portal พอคราวนี้ให้ยกเลิกแล้วผู้ประกอบการที่ได้ใบอนุญาต ICO Portal ไปแล้วจะทำอย่างไร ไหนจะลูกค้าที่จ่อคิวรอออกโทเคนอีก

ข้อ 3. ปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในตลาดรอง ให้สอดคล้องกับการปรับปรุงบทนิยาม “สินทรัพย์ดิจิทัล” ในข้อ 1 รวมทั้งกำหนดห้ามผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (means of payment)

เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าการที่เราจะใช้สินทรัพย์ดิจิทัลบางตัวเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการ ตรงนี้เสมือนเป็น barter trade ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความพึงใจของทั้งผู้ให้และผู้รับด้วย แต่ไม่ใช่การชำระค่าสินค้าหรือบริการเป็นการทั่วไป หรือ mean of payment

และข้อ 4. ปรับปรุงและแก้ไขหลักการในเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เพิ่มเติมบทบัญญัติการกระทำความผิด อัตราโทษทางอาญา ปรับปรุงอายุความในการดำเนินคดีสำหรับความผิดตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ และอื่น ๆ

ทั้งหมดนี้ยังคงเป็นแค่ Hearing เท่านั้น ทุกท่านสามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. ถึงวันที่ 15 ส.ค. แต่เชื่อว่าแค่มี hearing ผู้ประกอบการ หรือผู้ที่มีแผนจะออกโทเคนก็น่าจะมีเรื่องให้คิดเพิ่มขึ้นแน่นอน

*สเปนทีมรักคว้าแชมป์ยูโร 2024 แต่เหรียญโทเคนทีมชาติเสปน กลับร่วงยับซะงั้น!!

เกาะติดควันหลงบอลยูโรกับทีมชาติสเปนที่คว้าแชมป์ฟุตบอลยูโร 2024 ไปเป็นที่เรียบร้อย แต่ระหว่างที่ชาวสเปนกำลังเฉลิมฉลองกันอยู่ ราคาเหรียญคริปโทฯ ประจำทีมชาติสเปน หรือ Spain National Fan Token (SNFT) กลับร่วงลงกว่า 20% ลงมาอยู่ที่ราคาประมาณ 0.024 ดอลลาร์

โดยปกติแล้ว เหรียญแฟนโทเคนมักจะมีการเพิ่มขึ้นของราคาในช่วงเวลาก่อนการแข่งขัน และลดลงหลังจากการแข่งขัน หรือที่เรียกเหตุการณ์ลักษณะนี้ว่า “buy the rumor, sell the fact” ที่เคยเกิดขึ้นในตลาดแฟนโทเคนในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2022

แต่ถึงแม้ว่า แฟนโทเคนจะสร้างผลตอบแทนในวันแรกของการซื้อขายสูงถึง 150% แต่ในระยะยาวแล้วแฟนโทเคนจะให้ผลตอบแทนที่แย่กว่าเกณฑ์มาตรฐานคริปโทฯ ชั้นนำ อย่างเช่น Bitcoin (BTC) และเหรียญการเงินแบบกระจายอำนาจ (DeFi)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.ค. 67)

Tags: , , , ,
Back to Top