Taxi ไฟฟ้าแนวโน้มโตก้าวกระโดด หลังราคาพลังงานพุ่ง-ปั๊มแก๊สทยอยปิด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์สถานการณ์ตลาดรถ Taxi ไฟฟ้า (BEV) ว่า ในขณะที่ปริมาณ Taxi สะสมในกรุงเทพฯ ทยอยลดลง หลังการเข้ามาของโครงข่ายรถไฟฟ้า ที่ทำให้ผู้คนเดินทางสะดวกมากขึ้น กลับพบว่าปริมาณ Taxi ไฟฟ้า (BEV) บนท้องถนนนั้นเร่งตัวขึ้น แม้จะยังมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับทั้งตลาด (ยอดจดทะเบียน Taxi ไฟฟ้า สะสมอยู่ที่ 1,211 คัน ณ 30 มิ.ย. 67 จากทั้งตลาดที่ 75,184 คัน)

โดยในปี 67 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การซื้อ Taxi ใหม่ เพื่อทดแทนคันเก่าที่หมดอายุในพื้นที่กรุงเทพฯ น่าจะเป็น Taxi ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ด้วยอาจมีส่วนแบ่งสูงถึง 49% ของตลาด Taxi ป้ายแดง ที่คาดว่าจะมีทั้งหมดราว 3,300 คัน ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดของ Taxi ที่ใช้พลังงานขับเคลื่อนรูปแบบอื่น เช่น น้ำมัน, แก๊ส LPG และแก๊ส NGV รวมกันลดเหลือเพียง 51% จากเดิมอยู่ที่ 86% ในปี 66

สำหรับสาเหตุหลักที่ Taxi ไฟฟ้าเติบโตขึ้นมาก คาดว่ามาจากต้นทุนของทั้งฝั่งคนขับ Taxi และฝั่งผู้ประกอบการให้เช่า Taxi นั้นถูกลงกว่าการใช้ Taxi ที่เป็นพลังงานรูปแบบเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับกรณี Taxi ส่วนบุคคลที่เป็น Taxi ไฟฟ้า ต้นทุนต่อวันก็จะถูกลงอีกมาก เนื่องจากสามารถชาร์จไฟจากที่พักอาศัยได้เลยในระดับเดียวกับค่าไฟบ้าน

นอกเหนือจากประเด็นเรื่องต้นทุนแล้ว ความไม่สะดวกในการหาปั๊มเติมแก๊ส ก็เป็นอีกประเด็นสำคัญ หลังมีสัญญาณการทยอยปิดตัวลงของปั๊มแก๊ส จากการที่ราคาแก๊สทั้ง NGV และ LPG ปรับเพิ่มขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งแม้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการมาของ Taxi ไฟฟ้า แต่ก็มีผลทำให้ Taxi กลุ่มพลังงานอื่น โดยเฉพาะ NGV อาจเติบโตได้ลำบากขึ้นในอนาคต จากความไม่สะดวกดังกล่าว

ในทางตรงข้าม ในฝั่งของ Taxi ไฟฟ้า แม้ราคาชาร์จไฟจะเพิ่มขึ้น แต่จำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้าที่เร่งขึ้นมาก และจะเพิ่มขึ้นต่อในอนาคต ทำให้ปัญหาเรื่องการหาที่ชาร์จไฟมีแนวโน้มลดลง

มองไปข้างหน้า การซื้อ Taxi ใหม่ที่เป็นไฟฟ้ามีโอกาสเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากปัจจัยบวกที่เหนือกว่า Taxi กลุ่มอื่น โดยเฉพาะ Taxi NGV ที่การซื้อเพิ่มน่าจะลดลงเรื่อย ๆ ทำให้ส่วนแบ่งตลาดในอนาคตคาดว่าจะลดลงอีก จากปีนี้ที่มีอยู่เพียง 15% (ปี 66 Taxi NGV มีส่วนแบ่งตลาดที่ 31%) ทั้งจากปัญหาราคาแก๊ส NGV ที่อาจถูกปล่อยให้ลอยตัวในอนาคต และปริมาณปั๊มแก๊สที่อาจลดลงอีก

ดังนั้น ในอนาคตจึงอาจเหลือเพียง Taxi LPG ที่น่าจะยังพอไปต่อได้ สำหรับ Taxi ที่ใช้พลังงานอื่น แม้ต้นทุนราคา LPG จะสูงกว่า Taxi ไฟฟ้า เช่นกัน แต่การหาปั๊มแก๊ส LPG เพื่อเติมพลังงาน ยังสะดวกกว่าปั้มแก๊ส NGV มาก ซึ่งก็จะเหมาะกับผู้ประกอบการ Taxi ที่ยังไม่มั่นใจหรือพร้อมกับการเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยี BEV

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การขยายตัวของ Taxi ไฟฟ้าจะรุดหน้าต่อเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับจำนวนสถานีชาร์จสาธารณะ การจัดหาอะไหล่ และการซ่อมบำรุง ซึ่งมีผลต่อความเชื่อมั่น โดยเฉพาะกลุ่มคนขับแท็กซี่แบบเช่า ที่ไม่ต้องการให้มีอะไรมาเป็นอุปสรรคต่อการหารายได้ประจำวัน

นอกจากนี้ สำหรับธุรกิจให้เช่า Taxi กับกลุ่มคนขับ Taxi ที่เป็นเจ้าของรถเอง อาจมีประเด็นเพิ่มเติมอย่างค่าซ่อมที่ควบคุมไม่ได้แต่กลับมีมูลค่าซ่อมสูง อย่างอุบัติเหตุที่มีผลต่อแบตเตอรี่ เป็นต้นด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top