คลังเคลียร์ข้อห่วงใยปมเงื่อนไขดิจิทัลวอลเล็ตกีดกันร้านเล็ก ยันเติมน้ำในบ่อเดินหน้าศก.

นายวรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงินไม่เกิน 1.22 แสนล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โดยมองว่า ไม่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง เป็นเพียงแค่โครงการกู้เงินครั้งใหญ่ และทิ้งหนี้ไว้ให้กับประชาชน แต่จะเปลี่ยนเป็นพายุหมุนเข้าสู่ห้างร้านขนาดใหญ่แทน และที่แย่ที่สุด คือ การกีดกันร้านค้ารายย่อยในการร่วมโครงการ โดยเฉพาะเงื่อนไขห้ามร้านค้าแลกเป็นเงินสดในการรับเงินดิจิทัล

พร้อมมองว่า เงื่อนไขโครงการถูกออกแบบมาเพื่อกีดกันร้านค้ารายย่อย ทั้งขนาดเล็กและขนาดกลางที่สายป่านไม่ยาวพอ เนื่องจากร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะถอนเป็นเงินสดได้ก็ต่อเมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่รอบ 2 เป็นต้นไป

“การตั้งเงื่อนไขร้านค้าที่รับเงินดิจิทัลมา แล้วแลกเป็นเงินสดไม่ได้ คือการกีดกันร้านค้ารายย่อยออกจากโครงการเงินดิจิทัลเอง…ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนว่า คนที่คิดนโยบายไม่เคยเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ไม่ต้องหมุนเงิน ถึงได้คิดเงื่อนไขประหลาดโลกขึ้นมา ที่มีประเทศไหนเขาคิดกัน” นายวรภพ กล่าว

พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า เงื่อนไขที่ให้ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ตั้งแต่รอบแรก เหตุใดถึงรวมร้านสะดวกซื้อไว้ด้วย หรือเป็นเพราะรัฐบาลกังวลว่า จะไม่มีร้านค้าขนาดเล็กเข้าร่วมในโครงการนี้หรือไม่ จึงเปิดช่องให้ร้านสะดวกซื้อเป็นร้านค้าขนาดเล็กด้วย

นอกจากนี้ ร้านค้ารายย่อยที่รายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี ทำไมโครงการดิจิทัลกลับมาตั้งเงื่อนไขที่กีดกันร้านค้ารายย่อยที่ทำถูกกฏหมายออกไป ตั้งเงื่อนไขที่ต่างกับร้านค้ารายใหญ่ ที่รับเงินดิจิทัลจากรายย่อยมา ก็สามารถแลกเป็นเงินสดได้ทันที หากร้านค้ารายย่อยถูกกีดกันออกจากซัพพลายเชน จากห่วงโซ่เศรษฐกิจมากเท่าไร จะกลายเป็นการสูบเงินจากซัพพลายเชนรายย่อยด้วยกัน กลับเข้าสู่ห้างร้านเจ้าสัวทั้งหมด

“คิดว่า เป็นเงื่อนไขที่เลือดเย็นมาก ที่ต้องการเปลี่ยนมูลค่าเศรษฐกิจไปกระจุกกองที่ห้างร้านเจ้าสัวอย่างเป็นระบบ อยากให้นึกตามง่ายๆ จากเดิมจะซื้อลูกชิ้นหน้าปากซอย แต่ถ้ารถเข็นลูกชิ้นไม่รับเงินดิจิทัล คนก็ไปซื้อร้านสะดวกซื้อแทน แถมรายได้เดิมเขาก็จะหายไปด้วย” นายวรภพ กล่าว

 

รมช.คลังยันเอื้อร้านเล็กมากกว่าร้านสะดวกซื้อ

ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ชี้แจงกรณีการเข้าร่วมโครงการของร้านค้าว่า ร้านค้าขนาดใหญ่-เล็กนั้น รัฐบาลพยายามกำหนดเรื่องพื้นที่ระดับอำเภอ กำหนดขนาดร้านค้าที่มีขนาดเล็กลงให้เกิดการกระจายเม็ดเงินลงไปแก่ร้านค้าและประชาชนให้มากที่สุด และยืนยันสิ่งที่ทำในอดีตโครงการของรัฐมีร้านค้าเข้าร่วม 1.2 ล้านร้านค้า แต่ในโครงการนี้สามารถดึงร้านค้ามาอยู่ในระบบได้ไม่ต่ำกว่า 2-3 ล้านร้านค้า

ส่วนกรณีข้อห่วงใย เช่น ร้านค้าส่ง ร้านค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ มีเพียง 50,000 ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ นายจุลพันธ์ ยืนยันว่า สัดส่วนร้านค้าส่วนมากจะเป็นร้านค้าขนาดเล็ก ร้านของประชาชน ร้านค้าของวิสาหกิจ สหกรณ์ แต่กลไกโครงสร้างเศรษฐกิจไทย มีความสุ่มเสี่ยงที่จะไหลไปถึงร้านสะดวกซื้อ รัฐบาลพยายามกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ การจะตัดโครงสร้างทางธุรกิจปัจจุบันด้วยนโยบายนี้ ไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่เราต้องอุดหนุนช่วยเหลือสร้างกลไกให้ร้านค้าขนาดเล็กมีความเข้มแข็งต่อไป ถึงแม้เงินบางส่วน อาจจะต้องไปใช้ในร้านค้าที่ฝ่ายค้านเป็นห่วง แต่ต้องยอมรับร้านค้าเหล่านั้นไม่ใช่ผู้ผลิต สุดท้ายก็ต้องนำเม็ดเงินส่งต่อไปยังตัวผู้ผลิตสินค้าอยู่ดี

สำหรับตัวคูณทางเศรษฐกิจนั้น นายจุลพันธ์ กล่าวว่า กลไกนี้อย่ามองเพียง 2 รอบที่กำหนดโครงการไว้ รัฐบาลอยากให้กระตุ้นการผลิต การจ้างงาน จึงได้กำหนดไว้ 2 รอบ ในการใช้เงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โดยกำหนดรอบแรกระหว่างประชาชนกับร้านค้า รอบที่สองร้านค้ากับร้านค้า หากครบรอบ 2 เม็ดเงิน 500,000 ล้านบาท ยังอยู่ในรูปแบบเงินดิจิทัลวอลเล็ต หรือขึ้นเป็นเงินสดปกติ สุดท้ายเงินเหล่านี้จะเป็นกลไกในการเคลื่อนหมุนเศรษฐกิจ

“วันนี้ ประเทศไทยอยู่ในภาวะที่เหมือนบ่อน้ำไม่พอ ปลาอยู่เยอะเกินไป มันก็ตาย อยู่ไม่ได้ เราต้องเติมน้ำเข้าในบ่อให้เพียงพอ เพื่อให้ทุกคนอยู่ในระบบเศรษฐกิจร่วมกันได้ มีเงินที่จะเดินหน้าระบบเศรษฐกิจ” นายจุลพันธ์ กล่าว

พร้อมเชื่อมั่นว่า กลไกนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่มีความเหมาะสม สำหรับประโยชน์อื่น ๆ ในเรื่องข้อมูลที่ได้เชื่อมโยงฐานข้อมูลทั้งหมดเข้าสู่แอปกลางของรัฐ จะเป็นประโยชน์สูงสุดในการบริหารจัดการภาครัฐ ในการกำหนดนโยบาย เปลี่ยนเป็นข้อมูลวิเคราะห์จัดสรรงบประมาณที่มีมาช่วยแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้อย่างตรงจุด สามารถเลือกกลุ่มเป้าหมาย และติดตามผลได้อย่างเหมาะสม

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.ค. 67)

Tags: , , , , ,
Back to Top