“จุรินทร์” ซัดรัฐบาลกู้เงินทำดิจิทัลวอลเล็ต เปรียบเหมือนพายุหมุนหนี้ก้อนโต

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ 2567 เพื่อนำไปใช้ในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ว่า ตนไม่เคยต่อต้านโครงการนี้ และในทางตรงกันข้าม ตนทวงถามรัฐบาลทุกครั้งจะว่าได้เงินเมื่อไร เพราะถือว่าเมื่อรัฐบาลได้หาเสียงไว้แล้ว ก็ต้องมีความรับผิดชอบ ทำให้ทันเวลา ถูกกฎหมาย โปร่งใส คุ้มค่า แต่มองว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่รัฐบาลไม่บอกกับประชาชน หรือบอกไม่หมด หรือบิดเบือนจากข้อเท็จจริง

สำหรับความล่าช้าของโครงการ มาจากการที่รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินเหมือนเด็กเล่นขายของ เป็นไม้หลักปักขี้เลน โอนไปเอนมา เอาแน่นอนอะไรไม่ได้ เลื่อนเวลาโครงการออกไปหลายรอบ ขณะที่แหล่งเงินก็กลับไปกลับมา

“นายกรัฐมนตรีท่านนี้ เชื่อถือได้กี่เปอร์เซ็นต์ ตอนหาเสียง บอกแจกทันทีไม่มีกู้ พอเป็นรัฐบาลไม่กี่วันออกลาย เลื่อนทันที มีแต่กู้ ถึงขั้นออกพ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท แต่สุดท้ายยกธงขาว เพราะจำนนด้วยข้อกฎหมายว่าทำไม่ได้ เพราะที่รัฐบาลพยายามสร้างประเด็นว่า เศรษฐกิจกำลังวิกฤติ เอาเข้าจริง เศรษฐกิจไม่ได้วิกฤติถึงขั้นต้องกู้มาแจก” นายจุรินทร์ กล่าว

นายจุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ยังมีรายละเอียดในโครงการที่ไม่ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องสินค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ รวมถึงงบประมาณที่ใช้ ซึ่งได้ปรับเปลี่ยนมา 3 รอบ เป็นการบริหารแบบคิดไปทำไป

“ยอดเงินก็ลดมา 3 รอบ เปรียบเหมือนจากเรือยอร์ชกลายเป็นเรือแจว และแม้จะคงเป้าหมาย 50 ล้านคนไว้ แต่เตรียมเงินไว้ 4.5 แสนล้านบาท เพราะหวังว่าจะมี 5 ล้านคน ไม่รับสิทธิ์ ซึ่งมีคำถามว่า หาก 5 ล้านคนมาใช้สิทธิ์ รัฐบาลจะเอาเงินที่ไหนอีก 5 หมื่นล้านมาแจก” นายจุรินทร์ ระบุ

โดยที่สำคัญเม็ดเงินที่ใช้แจก อยู่ในส่วนของงบกลางปี 67 รายการเงินฉุกเฉิน มีอยู่ 9.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งข้อมูลล่าสุด (11 ก.ค.) รัฐบาลใช้งบกลาง เพียง 3,238 ล้านบาท แสดงว่าการเบิกจ่ายงบฉุกเฉินจริงเกียร์ว่าง เพื่อให้เงินก้อนนี้เหลือนำมาแจกในโครงการดิจิทัล 43,000 ล้านบาท เพราะฉะนั้นที่รัฐบาลกำชับให้มีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อทำให้เศรษฐกิจปีนี้โต 3% นั้นเป็นแค่การละคร

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ รัฐบาลยังตีความว่า จำนวนเงิน 112,000 ล้านบาท จะแบ่งเป็น 2 ก้อน 20% เป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 24,400 ล้านบาท และ 80% เป็นรายจ่ายลงทุน จำนวน 97,600 ล้านบาท คำถามคือ ทำไมรัฐบาลถึงตีความว่าเป็นรายจ่ายลงทุนถึง 80% ซึ่งไม่น่าจะจริง เพราะดิจิทัลวอลเล็ตไม่ใช่เงินลงทุน แต่เป็นเงินการโอนเพื่อบริโภค และไม่เข้านิยามเงินลงทุนของสำนักงบประมาณ ซึ่งสุดท้ายอาจจะนำไปสู่ความเสี่ยงใน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 20 (1)

ในส่วนของความคุ้มค่าของโครงการ ที่รัฐบาลพูดตลอดว่าจะทำให้เกิดพายุหมุนเศรษฐกิจครั้งใหญ่ กระตุ้นเศรษฐกิจภายใน 6 เดือนที่แจก ทำให้ GDP เฉพาะดิจิทัลวอลเล็ตโต 1.2-1.8% นั้น พูดเหมือนกับตลกคาเฟ่ ดูถูกคนคิดเลขเป็นทั้งประเทศ เพราะฝ่ายต่าง ๆ พูดตรงกันว่า ที่บอกว่าจะได้นั้น ได้จริง แต่ได้ไม่คุ้มเสีย และยังมีค่าเสียโอกาส ถ้ารัฐบาลเอาเงิน 5 แสนล้านบาทไปทำอย่างอื่นจะได้มากกว่านี้ เช่น ไปแจกกลุ่มเปราะบาง ไปใช้ลงทุนด้านอื่น เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนจะได้ประโยชน์มากกว่า

“เพราะฉะนั้น การกู้มาแจกแค่ 6 เดือน มันเหมือนโยนหินลงน้ำ 1 ก้อน เกิดแรงกระเพื่อม จ๋อมเดียวแล้วก็หายไป แต่ที่จะเกิดตามมา คือพายุหมุน แต่เป็นพายุหมุนหนี้ก้อนโต ให้คนไทยต้องชดใช้อีกนานเท่านาน เข้าทำนองประเทศเสียหายไม่ว่า ขอให้ข้าได้หาเสียง” นายจุรินทร์ กล่าว

ส่วนเรื่องความไม่โปร่งใสในโครงการนั้น ฝากเตือนให้รัฐบาลระวังว่าอย่าทำให้แรงกู้ครั้งนี้ เป็นแรงกู้ไร้อนาคต เพราะเกิดการทุจริตเป็นอันขาด เนื่องจากประชาชนยังมีหลายข้อสงสัย เช่น ทำไมไม่แจกเป็นเงินสด, ทำไมไม่แจกผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง ,ทำไมต้องแจกอายุ 16 ปีขึ้นไป เป็นต้น และในช่วงที่รัฐบาลเข้ามาบริหารใหม่ ๆ ก็มีการทำผลสำรวจถามว่า ถ้ารัฐบาลยกเลิกโครงการนี้ ประชาชนจะโกรธหรือไม่ ประชาชนตอบตรงกันเกือบ 69% ว่า ไม่โกรธเลย แต่หากถามใหม่ในตอนนี้ ตนไม่แน่ใจว่า คำตอบจะเปลี่ยนไปหรือไม่ ซึ่งที่อาจจะเปลี่ยนไปไม่ใช่เพราะประชาชนหันมาพิศวาสโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แต่เป็นเพราะรัฐบาลนี้บริหารมาเกือบปี เกือบไม่เหลืออะไรให้ประชาชนหวังได้อีกแล้ว นอกจากน้ำข้าวต้ม ชื่อดิจิทัลวอลเล็ตชามเดียว

“เกือบปีที่ผ่านมา ผลงานรัฐบาลต้องบอกตรง ๆ ว่า สุดเห่ยจริง ๆ ทุกด้าน และอยากจะบอกสั้น ๆ ว่า ขอให้รัฐบาลได้รับทราบ แม้จะเปลี่ยนไปใช้แอปพลิเคชันทางรัฐ แต่ดิจิทัลวอลเล็ต จะเป็นแค่ทางรอดของประชาชน คนจน และกลุ่มเปราะบางชั่วคราวเฉพาะกิจเท่านั้น แม้มันอาจจะเป็นทางรอดของบางพรรค แต่ที่แน่นอน ไม่ใช่ทางรอดของประเทศ” นายจุรินทร์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.ค. 67)

Tags: , , , , ,
Back to Top