พลังงาน เร่งหาแนวทางดูแลค่าไฟงวดก.ย.-ธ.ค. ลดภาระปชช.

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงข้อกังวลของประชาชนและภาคเอกชนเกี่ยวกับ การปรับขึ้นค่าไฟฟ้างวดเดือนก.ย.-ธ.ค.67 ว่า กระทรวงพลังงานกำลังเร่งหาแนวทางเพื่อลดภาระค่าครองชีพประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก

โดยกระทรวงพลังงานจะดำเนินการบริหารจัดการและประสานทุกภาคส่วน จะหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ ค่าเอฟที ซึ่ง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงานได้ให้ความสำคัญและได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันในการบริหารต้นทุนค่าไฟเพื่อบรรเทาผลกระทบประชาชน

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานต้องพิจารณาสร้างความสมดุลทั้งด้านความมั่นคงไปพร้อมกับราคาที่เหมาะสม เพราะนอกจากไฟฟ้าจะนำมาใช้ในชีวิตประจำวันของประชาชนแล้ว ไฟฟ้ายังเป็นปัจจัยหลักที่หนุนเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้า และการลงทุนของประเทศ ซึ่งในกระบวนการบริหารจัดการ จึงมีเป้าหมายในการรักษาสมดุลทั้งการดูแลค่าครองชีพ การดูแลคุณภาพ ความมั่นคง ความมีเสถียรภาพ เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ในช่วงที่ราคาพลังงานทั่วโลกผันผวนในระดับสูง

“กระทรวงพลังงาน เข้าใจความรู้สึกของประชาชนและภาคเอกชนที่กังวลถึงค่าไฟฟ้าในงวดเดือนก.ย.- ธ.ค.67 ที่ทาง กกพ. ได้ประกาศออกไป แต่เนื่องจากราคาพลังงานทั่วโลกผันผวนในระดับสูง อีกทั้งกระทรวงพลังงานจะต้องรักษาสมดุลทั้งด้านเสถียรภาพด้านพลังงาน ความน่าเชื่อถือทางการเงินของ กฟผ. รวมทั้งก็คำนึงถึงภาระค่าครองชีพของประชาชน ก็จะพยายามอย่างเต็มที่ในการรักษาสมดุล โดยหาแนวทางพิจารณาค่าไฟฟ้าที่จะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบให้น้อยที่สุด ส่วนในอนาคตก็จะพิจารณาปรับแผน PDP ให้มีความเหมาะสม รับฟังความคิดเห็นรอบด้านเพื่อให้ราคาพลังงานมีความเหมาะสมและยั่งยืนต่อไป” นายประเสริฐ กล่าว

ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าค่าไฟของไทยแพงที่สุดในอาเซียนนั้น นายประเสริฐ กล่าวว่า ไม่เป็นความจริง ค่าไฟของไทยอยู่ในระดับปานกลาง ที่มีข่าวว่าเวียดนามค่าไฟถูกกว่าไทยมากนั้น เนื่องจากเวียดนามใช้ไฟฟ้าจากพลังงานน้ำค่อนข้างมาก จึงทำให้ต้นทุนถูกกว่า แต่เวียดนามก็ไม่มีความเสถียรด้านไฟฟ้า เกิดไฟฟ้าดับบ่อย อินโดนีเซียก็ใช้ถ่านหินก็ทำให้ต้นทุนถูกกว่า

 

กฟน.ค้านขึ้นค่าไฟ

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้านครหลวง (สภฟ.) ขอคัดค้านการผลักภาระค่าไฟฟ้าให้แก่ประชาชน รวมทั้งขอให้ยุตินโยบายการให้บริษัทเอกชนผลิตกระแสไฟฟ้า และโอนการผลิตกระแสไฟฟ้ากลับมาให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ตามเดิม รวมทั้งการคงอัตราการสำรองไฟฟ้าไว้ที่ 15% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ

การปรับค่าไฟฟ้าหรือค่า Ft ครั้งนี้ ถือเป็นการผลักภาระให้แก่ประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม ทั้ง ๆ ที่ปัจจุบันประชาชนต้องทุกข์ยากลำบากจากค่าครองชีพที่พุ่งทะยานสูงขึ้น ทั้งค่าน้ำมัน ค่ารถเดินทาง และค่าของกินของใช้ที่แพงขึ้นอย่างมาก แต่รัฐบาลกลับไม่มีมาตรการแก้ไขค่าครองชีพที่สูงขึ้น ยิ่งมีการปรับค่า Ft จะยิ่งเป็นการสร้างความทุกข์ยากอดอยาก เป็นการช้ำเติมประชาชน รวมถึงลูกจ้างทั้งของรัฐและเอกชนเพิ่มมากขึ้น

สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากนโยบายของรัฐที่มีการสำรองไฟฟ้าสูงเกินความจำเป็น อยู่ที่ระดับ 35-50% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ ขณะที่อัตราการสำรองไฟฟ้าตามเกณฑ์เดิมอยู่ที่ 15% การสำรองไฟฟ้ายิ่งสูงมากจะกลายเป็นต้นทุนแฝงที่เป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าหรือประชาชน ดังนั้น การเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนใหญ่ จึงถือเป็นการทุจริตเชิงนโยบายที่ประชาชนทุกข์ทนกับภาระต้นทุนที่ต้องแบกรับสูงขึ้น ตลอดนับสิบปีที่ผ่านมา

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.ค. 67)

Tags: , , , , ,
Back to Top