นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.16 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากปิดวันก่อนที่ระดับ 36.21 บาท/ดอลลาร์
คืนที่ผ่านมา เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และจังหวะการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ หลังรายงานดัชนีภาคการผลิต โดยเฟดนิวยอร์กออกมาแย่กว่าคาด อีกทั้งถ้อยแถลงของประธานเฟดล่าสุด ที่สะท้อนถึงความเชื่อมั่นมากขึ้นต่อแนวโน้มการชะลอลงของอัตราเงินเฟ้อ ก็ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า เฟดมีโอกาสถึง 60% ในการลดดอกเบี้ยราว 3 ครั้งในปีนี้
“เงินบาทอาจยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ตราบใดที่ราคาทองคำไม่ได้เข้าสู่ช่วงการปรับฐานที่ชัดเจน โดยทุก ๆ จังหวะการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ อาจเห็นแรงขายทำกำไรทองคำ ซึ่งช่วยหนุนค่าเงินบาทได้บ้าง”
นายพูน ระบุ
นายพูน มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.00-36.30 บาท/ดอลลาร์ แนวโน้มของค่าเงินบาท ประเมินว่าอาจแกว่งตัว sideways จนกว่าจะมีการรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยวันนี้ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของสหรัฐฯ ในเดือนมิ.ย
*ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยน อยู่ที่ระดับ 158.50 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานที่ระดับ 157.91 เยน/ดอลลาร์
- เงินยูโร อยู่ที่ระดับ 1.0892 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานที่ระดับ 1.0908 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 36.226 บาท/ดอลลาร์
- ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท.ได้จัดทำทิศทางการส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวปี 2568 เรียบร้อยแล้ว เตรียมพาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยสู่จุดสูงสุดอีกครั้ง ภายใต้ปีแห่งความท้าทายของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ที่จะก้าวไปสู่ Amazing Thailand Grand Tourism Year อย่างยิ่งใหญ่ และเพื่อบรรลุเป้าหมายเชิงเศรษฐกิจ ผลักดันการเติบโตรายได้ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 7.5% จากปีนี้ สูงกว่าการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประเทศไทยปี 2568 ถึง 1.7 เท่า เพื่อนำพาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยกลับไปอยู่ ณ จุดสูงสุดอีกครั้ง โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 39 ล้านคน และดึงไทยเที่ยวไทยมากกว่า 205 ล้านคน/ครั้ง
- ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้กล่าวสุนทรพจน์ที่สมาคมเศรษฐกิจแห่งวอชิงตัน ดีซี เมื่อวานนี้ (15 ก.ค.) ว่า เฟดจะไม่รอจนกว่าเงินเฟ้อปรับตัวสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% ก่อนที่จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ ไม่คิดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเผชิญกับภาวะทรุดตัวลงอย่างรุนแรง หลังมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว
- นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ โดยจะเกิดขึ้นในเดือนก.ย., พ.ย. และธ.ค. จากเดิมที่คาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้งในเดือนก.ย.และธ.ค. หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่ต่ำกว่าคาดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด
- ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 89.9% ที่เฟดจะลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือนก.ย. หลังจากที่ให้น้ำหนักเพียง 71.0% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
- ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (15 ก.ค.) หลังจากนักลงทุนซึมซับถ้อยแถลงของประธานเฟด ที่ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันจันทร์ (15 ก.ค.) ขานรับความหวังที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนก.ย.
- นักวิเคราะห์จากธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ดระบุว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐจะเป็นปัจจัยกระตุ้นราคาบิตคอยน์ และชัยชนะของนายโดนัลด์ ทรัมป์เหนือประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะช่วยหนุนให้บิตคอยน์พุ่งขึ้นแตะระดับ 150,000 ดอลลาร์ในช่วงสิ้นปี
- ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดค้าปลีกเดือนมิ.ย., ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนก.ค. จากสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ, รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ (Beige Book) จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนมิ.ย. จาก Conference Board
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ก.ค. 67)
Tags: FX, ค่าเงินบาท, อัตราแลกเปลี่ยน, เงินบาท