รายงานแนวโน้มครอบครัวที่เผยแพร่โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและครอบครัวของสิงคโปร์เมื่อวันจันทร์ (15 ก.ค.) ระบุว่า จำนวนผู้สูงอายุชาวสิงคโปร์ที่อาศัยอยู่ตามลำพังในครัวเรือนเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าจาก 35,160 คนในปี 2556 เป็น 78,135 คนในปี 2566
ขณะเดียวกัน จำนวนผู้สูงวัยอายุ 65 ปีขึ้นไปที่อาศัยอยู่ในครัวเรือน เพิ่มขึ้นจาก 413,117 คนในปี 2556 เป็น 708,656 คนในปี 2566 โดยผู้สูงวัยกว่า 80% อาศัยอยู่กับครอบครัว
ทั้งนี้ ผู้สูงวัยอายุ 65 ปีขึ้นไปคิดเป็นสัดส่วน 19.1% ของพลเมืองทั้งหมดในสิงคโปร์ ณ เดือนมิ.ย. 2566
รายงานระบุว่า อัตราเจริญพันธุ์รวมในสิงคโปร์ลดลงจาก 1.19 ในปี 2556 สู่ระดับ 0.97 ในปี 2566 ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
ขณะเดียวกัน ในกลุ่มผู้หญิงช่วงวัย 40 ปีที่เคยผ่านการแต่งงานมาแล้วนั้น จำนวนผู้หญิงที่ไม่มีลูกเพิ่มขึ้นจาก 10.0% ในปี 2556 เป็น 13.9% ในปี 2566
นอกจากนี้ คู่รักชาวสิงคโปร์ยังมีลูกช้ากว่าเดิม โดยอายุเฉลี่ยของคนที่เป็นพ่อและแม่ครั้งแรกอยู่ที่ 33.3 ปี และ 31.6 ปีตามลำดับในปี 2566 เทียบกับ 32.7 ปี และ 30.3 ปีตามลำดับในปี 2556
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า รัฐบาลสิงคโปร์ได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือครอบครัวในการเลี้ยงดูบุตร เช่น การเสนอให้พ่อลางานเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้โดยรัฐจ่ายเงินให้ การสร้างสถานรับเลี้ยงเด็กเต็มวันเพิ่มเติม และการให้เงินอุดหนุนการศึกษาก่อนวัยเรียน เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ก.ค. 67)
Tags: สังคมผู้สูงอายุ, สิงคโปร์