นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัลฯ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า คาดการณ์ว่า ทิศทางดอกเบี้ยโลกเข้าสู่ภาวะขาลงปลายปี มีความเป็นไปได้เพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจนที่ธนาคารกลางสหรัฐจะปรับลดดอกเบี้ยเดือนกันยายนและธันวาคมปีนี้หลังจากดัชนีราคาผู้บริโภคหรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปล่าสุดเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 3% เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปปรับลดลง -0.1% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานหรือดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 3.3% เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายนเมื่อปีที่แล้ว และ คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกอย่างน้อย 3-4 ครั้งในปีหน้า ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ย Fed Fund Rate อยู่ที่ระดับ 3.75-4% ได้ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2568
ทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯขาลงจะกดดันให้ดอลลาร์สหรัฐฯทยอยอ่อนค่าลงตามลำดับ โดยที่ค่าเงินสกุลเงินเอเชียยกเว้นเงินเยนปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ นอกจากนี้ มองว่าธนาคารกลางยุโรปและหลายประเทศจะทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นน่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำต่อไปแม้นเยนจะอ่อนค่าก็ตาม
ดอกเบี้ยโลกขาลงจะทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นและสินทรัพย์เสี่ยงมีความน่าสนใจมากขึ้น การเคลื่อนย้ายเงินทุนมายังภูมิภาคเอเชียมากขึ้นจะทำให้เงินบาทและเงินสกุลภูมิภาคแข็งค่าขึ้น เงินดอลลาร์ที่แข็งค่ามากที่สุดในรอบ 36 ปีเมื่อเทียบกับเงินเยนน่าจะเริ่มชะลอตัวลง ก่อนหน้านี้ ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาแข็งค่าไปแตะระดับ 1 ดอลลาร์ต่อ 1 ยูโรเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้วจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากระดับดังกล่าวมากนัก
ทิศทางการแข็งค่าขึ้นของดอลลาร์สหรัฐอเมริกาในช่วงที่ผ่านมาเป็นผลจากการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา การเติบโตของผลกำไรของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์โดยเฉพาะบริษัทไฮเทคโนโลยีทั้งหลาย นอกจากนี้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนมีนาคมเมื่อปี พ.ศ. 2565 ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสูงที่สุดในรอบ 23 ปีที่ระดับ 5.25-5.50% การทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยจากระดับสูงสุดลงมาสู่ระดับปรกติย่อมส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลง
บาทอาจแข็งค่าสู่ระดับ 33-34 บาทต่อดอลลาร์ได้ในช่วงปลายปีนี้จนถึงต้นปีหน้า หากการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่องพร้อมดุลการค้าเกินดุลเพิ่ม และหากเกินดุลบัญชีเดินสะพัดทะลุ 8 พันล้านดอลลาร์หรือมากกว่า 1.5% ของจีดีพี อาจเห็นบาทแข็งค่าทะลุ 32 บาทได้ในปีหน้า และ มีโอกาสเช่นเดียวกันที่เงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 29-30 บาทต่อดอลลาร์เช่นเดียวกับปลายปี พ.ศ. 2562 หากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและการลงทุนในตลาดการเงินและหลักทรัพย์ของต่างชาติ เพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับเดียวกับก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโควิด และ มีการชะลอตัวของเงินทุนไหลออกไปลงทุนนอกประเทศของกลุ่มทุนข้ามชาติสัญชาติไทยและหันกลับมาขยายการลงทุนในประเทศมากขึ้น
นายอนุสรณ์ข กล่าวต่อว่า การลอบสังหารอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ยังไม่ส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์และตลาดการเงินในขณะนี้ และยังไม่ได้มีผลกระทบอะไรต่อการลงทุนและเศรษฐกิจในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม คงต้องติดตามว่า ความรุนแรงทางการเมืองยังจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ระหว่างการรณรงค์หาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี หลังการเลือกตั้งการเปลี่ยนผ่านอำนาจในการบริหารประเทศจะเปลี่ยนแปลงด้วยความเรียบร้อยหรือไม่ หากเกิดความไม่เรียบร้อยขึ้นระหว่างการเลือกตั้งหรือหลังเลือกตั้ง ปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ต่อการลงทุน รวมทั้งต่อนโยบายเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศของสหรัฐฯอันส่งผลต่อเศรษฐกิจประเทศต่างๆได้
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ มีประชาชนและธุรกิจขนาดย่อย ขนาดกลางและขนาดเล็กจำนวนไม่น้อยไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อและบริการทางการเงินได้ ยังต้องเผชิญกับต้นทุนทางการเงินที่สูง ระบบธนาคารมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ทำให้ผู้ต้องการสินเชื่อจำนวนหนึ่งไม่ได้รับสินเชื่อและขาดสภาพคล่อง การประกาศรายชื่อผู้สมควรได้รับอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank ได้ ในปี พ.ศ. 2568 ควรตั้งเป้าให้เป็นไปตามกรอบเวลาและควรมีการเตรียมการเพื่อให้ Virtual Banks เหล่านี้สามารถให้บริการทางการเงินได้ทันที ซึ่งน่าจะทำให้เกิดการแข่งขันเพิ่มขึ้นในการให้บริการทางการเงิน ขอเสนอเพิ่มเติมให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาใช้นโยบาย Open Banking เช่นเดียวกับประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกาหรือสมาชิกอียูบางประเทศ การทำนโยบาย Open Banking จะทำให้เกิดการแข่งขันการให้บริการ พัฒนาผลิตภัณฑ์หลากหลาย นโยบาย Open Banking บวกเข้ากับ หลักเกณฑ์เปิดให้มีการจัดตั้งธนาคารเสมือนจริงไร้สาขา อย่างเหมาะสมชัดเจน จะเปิดให้ กลุ่ม Non-Bank และบริษัทที่มีความพร้อมทางด้านเทคโนโลยี เช่น บริษัท FinTech บริษัท E-Commerce บริษัทโทรคมนาคม สามารถจัดตั้งธุรกิจการให้บริการทางการเงินหลากหลายรูปแบบ
นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิมอาจตั้งบริษัทลูก หรือ ร่วมทุนกับพวก Non-Bank ในการให้บริการในรูปแบบใหม่ที่เราอาจเรียกได้ว่า เป็น Neo-Banks ได้ การเกิด ธนาคารเสมือนจริง เกิด Neo-Banks ทำให้ธนาคารขนาดใหญ่ต้องเพิ่มการลงทุนทางเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น และ หันมาใช้ กลยุทธ์ Digital First หรือ ดิจิทัลต้องมาก่อน เป็นกลยุทธ์สำคัญ มีการลงทุนเทคโนโลยีเกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกและพฤติกรรมของลูกค้าแต่ละราย เพื่อให้สามารถนำเสนอบริการอย่างเฉพาะเจาะจงเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละคน
นอกจากนี้ การเติบโตของสินทรัพย์ดิจิทัลจะเข้ามาลดบทบาทสถาบันการเงินในฐานะที่เป็นตัวกลางทางการเงินมากขึ้นเรื่อยๆ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบการเงินดิจิทัลนั้น ไทยมีความก้าวหน้าระดับหนึ่ง เรามีระบบ QR Code standard ระบบการยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ระบบ Mobile Banking ระบบ พร้อมเพย์ เป็นต้น แต่ยังมีโครงสร้างพื้นฐานอีกหลายส่วนยังต้องพัฒนาต่อเนื่องซึ่งหมายถึง ระบบกำกับดูแล และ ระบบความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ด้วย ผู้ฝากเงินของธนาคารเสมือนจริงไร้สาขาควรได้รับความคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากเช่นเดียวกับผู้ฝากเงินในระบบธนาคารแบบเดิม และ ผู้ฝากเงินกับธนาคารเสมือนจริงต้องได้รับการประกันเงินฝากเช่นธนาคารรูปแบบปรกติ
ในขั้นต้น ธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งเป้าให้ใบอนุญาต Virtual Bank เพียง 3 แห่งจะทำให้ไม่เกิดการแข่งขันอย่างเต็มที่ และ ก่อให้เกิดอำนาจกึ่งผูกขาดได้ในการให้บริการทางการเงินผ่านธนาคารไร้สาขาได้ จึงควรเปิดกว้างเปิดเสรีให้มีการจัดตั้งธนาคารไร้สาขามากขึ้นในระยะต่อไป การกำหนดให้ทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาทย่อมทำให้มีกลุ่มทุนขนาดใหญ่เท่านั้นที่จะสามารถดำเนินธุรกิจนี้ได้ ทำให้การแข่งขันไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ การมี ธนาคารเสมือนจริง (Virtual Bank) เพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสม จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการเงิน ลดปัญหาหนี้ครัวเรือนลงได้ระดับหนึ่ง ขยายโอกาสธนาคารและบริการทางการเงินในรูปแบบใหม่ (NeoBanks) จะทำให้ต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจและภาคการลงทุนลดลง นอกจากนี้ การธนาคารและการให้บริการทางการเงินในรูปแบบใหม่ในระบบธนาคารดิจิทัลที่ไร้สาขานี้ จะลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ลดกิจกรรมหรือกระบวนการทำงานที่ปล่อยของเสีย เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม สัดส่วนของต้นทุนอาคารสถานที่และอุปกรณ์ในเครือข่ายสาขาต่อต้นทุนการดำเนินการทั้งหมดของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ที่ประมาณ 13-20%
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ไทยมีปัญหาหนี้นอกระบบจำนวนมาก เราสามารถแก้ปัญหาหนี้นอกระบบส่วนหนึ่งได้โดย Virtual Bank เน้นไปที่กลุ่มประชาชนรายได้น้อย Unserved และ Underserved ให้เข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น Virtual Bank ไม่มีเครือข่ายสาขา จะทำให้ต้นทุนทางการเงินของธนาคารและลูกค้าลดลงได้ สามารถนำต้นทุนที่ลดลงไปพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการการเงินได้มากขึ้น อย่างในสหรัฐอเมริกาที่มีเปิดให้บริการธนาคารแบบไร้สาขาจำนวนมาก ปรากฏว่า ธนาคาร Digital Virtual Bank สามารถให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์สูงกว่าธนาคารขนาดใหญ่รูปแบบดั้งเดิม (Large Traditional Bank) สูงถึง 3-4% และ มีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถูก ประชาชนสามารถใช้บริการได้อย่างสะดวก Virtual Bank ยังสามารถให้บริการเงินออมสำหรับผู้ที่เริ่มทำงานด้วยผลิตภัณฑ์ออมเงินจำนวนน้อยๆเป็นรายวันหรือรายสัปดาห์ได้ ซึ่งธนาคารแบบเดิมมักไม่สามารถให้บริการได้หรือมีต้นทุนในการให้บริการที่สูง
นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ทางการควรมีการเร่งลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานการเงินการธนาคารดิจิทัลให้ทั่วถึงและครอบคลุม นอกจากนี้ต้องลงทุนความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้ดียิ่งขึ้น ป้องกันนักลงทุนและประชาชนจากการโจรกรรมทางไซเบอร์ ให้ความรู้และข้อมูลเพื่อไม่ให้ ประชาชนตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพแก๊ง Call Center ทั้งหลาย เมื่อประชาชนหรือนักลงทุน ตกเป็นเหยื่อหรือถูกโกงจากแก๊งคอลล์เซ็นเตอร์ ทางการต้องสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันถ่วงทีและมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีที่สามารถป้องกันและตรวจจับได้ก่อน
นายอนุสรณ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า Virtual Bank มีต้นทุนการทำธุรกรรมและการทำธุรกิจต่ำกว่าธนาคารแบบดั้งเดิมมากทำให้ต้นทุนการทำธุรกรรมทางการเงินของประชาชนลดลง ภาวะดังกล่าวจะบีบให้ระบบธนาคารแบบเดิมต้องปรับตัวมากขึ้นอีก การเข้าถึงเงินทุนและการบริการทางการเงินที่ดีขึ้น ทั่วถึง เท่าเทียมขึ้น ด้วยคุณภาพและความรวดเร็วจะทำให้ปัญหาสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีที่อยู่ในระดับสูงทยอยปรับตัวลงได้ในระยะยาวได้ แต่การลดลงหนี้จะเกี่ยวพันกับการปฏิรูปเศรษฐกิจให้คนส่วนใหญ่มีรายได้โดยเฉลี่ยสูงขึ้น การมี ปัญญาประดิษฐ์ ในการช่วยประมวลข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลทำให้เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคได้ดี ส่งผลให้สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝาก สินเชื่อ และ การลงทุนให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า ผู้ฝากเงินสามารถแบ่งบัญชีเงินฝากออกเป็นบัญชีย่อย ๆ เพื่อแยกเงินไว้สำหรับวัตถุประสงค์ต่างๆได้ นอกจากนี้ เมื่อการเข้าถึงการบริการทางการเงินดีขึ้น จะทำให้ครัวเรือนที่ไม่เคยใช้บริการเงินฝากในระบบธนาคารประมาณ 15-16% สามารถฝากเงินด้วยต้นทุนที่ต่ำลง การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ การทำธุรกรรมผ่านระบบธนาคารดิจิทัล จะทำให้ได้ฐานข้อมูลรอยเท้าดิจิทัล (Digital Footprint) ที่ทำให้ ระบบสถาบันการเงิน และ Virtual Bank สามารถนำมาเป็นข้อมูลพัฒนาบริการทางการเงินเพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้บริการในอนาคต
หลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับ Virtual Bank ต้องเป็นเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานที่รายเล็ก รายกลาง รายใหญ่ สามารถปฏิบัติได้เหมือนกันหมด และการกำหนดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำที่ 5,000 ล้านบาท ก็จะไม่มี Virtual Bank ขนาดเล็กและขนาดกลางในประเทศไทย จะมีแต่รายใหญ่เท่านั้นที่สามารถจัดตั้งกิจการและให้บริการได้ ขณะที่ Virtual Bank ในจีนใช้การวิเคราะห์ข้อมูลและสมองกลอัจฉริยะในกระบวนการสินเชื่อขนาดเล็กมาก (Micro Credit) แก่ประชาชนและกิจการขนาดเล็กมากที่ไม่เคยได้สินเชื่อจากระบบธนาคารเลย และ สามารถคิดดอกเบี้ย วงเงินสินเชื่อได้ตามระดับความเสี่ยงของลูกค้า หาก Virtual Bank กำลังจะเปิดให้บริการในประเทศไทยสามารถทำได้เช่นนี้ ก็จะลดปัญหาหนี้นอกระบบได้มากทีเดียว ทางด้าน Virtual Bank ในเกาหลีใต้ก็สามารถส่งเสริมให้เกิดการออมเงินในหมู่คนรุ่นใหม่ด้วยผลิตภัณฑ์เงินฝากที่สามารถออกแบบได้ตามความต้องการของผู้ฝากเงินแบบ Mass Customization
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.ค. 67)
Tags: ลดดอกเบี้ย, อนุสรณ์ ธรรมใจ, เฟด, เศรษฐกิจไทย