คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติเมื่อวันที่ 10 ก.ค.67 รับทราบภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจริงประจำรอบเดือน ม.ค.-เม.ย.67 และเห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่าเอฟทีสำหรับงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.67 พร้อมให้สำนักงาน กกพ.นำค่าเอฟที (Ft) ประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปรับฟังความคิดเห็นในกรณีต่างๆ ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 12 – 26 ก.ค.67 ก่อนที่จะมีการสรุปและประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป
ในการพิจารณาค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ ค่า Ft อาจปรับเพิ่มขึ้นในระดับ 46.83-182.99 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บในงวด ก.ย.-ธ.ค.67 เพิ่มขึ้นเป็น 4.65-6.01 บาทต่อหน่วย จากงวดก่อนหน้าอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย
การเปิดรับฟังความเห็นประกอบด้วย 3 กรณี คือ
กรณีที่ 1: ผลการคำนวณตามสูตรการปรับค่า Ft (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างทั้งหมด) ค่า Ft ขายปลีกเท่ากับ 222.71 สตางค์ต่อหน่วยส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.01 บาทต่อหน่วย ค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 44 จากระดับ 4.18 บาทต่อหน่วย ในงวดปัจจุบัน
คำนวณตามสูตรปรับค่า Ft สะท้อนแนวโน้มต้นทุน 34.30 สตางค์ต่อหน่วย และเงินชดเชยต้นทุนคงค้าง กฟผ.98,495 ล้านบาท (คิดเป็น 163.39 สตางค์ต่อหน่วย) และมูลค่า AFGAS จำนวน 15,083.79 ล้านบาท (คิดเป็น 25.02 สตางค์ต่อหน่วย) รวม 188.41 สตางค์ต่อหน่วย โดย กฟผ. จะได้รับเงินที่รับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าแทนประชาชนคืนครบทั้งหมดภายในเดือน ธ.ค.67 และรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติจะได้รับเงินคืนส่วนต่างราคาก๊าซคืนทั้งหมด
กรณีที่ 2: กรณีจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 3 งวด ค่า Ft ขายปลีกเท่ากับ 113.78 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.92 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 จากงวดปัจจุบัน
คำนวณสะท้อนแนวโน้มต้นทุน 34.30 สตางค์ต่อหน่วย และทยอยชำระคืน กฟผ. เป็น 3 งวดๆ ละจำนวน 32,832 ล้านบาท (คิดเป็น 54.46 สตางค์ต่อหน่วย) และมูลค่า AFGAS จำนวน 15,083.79 ล้านบาท (คิดเป็น 25.02 สตางค์ต่อหน่วย) รวมทั้งสิ้นเท่ากับ 79.48 สตางค์ต่อหน่วย คาดว่า ณ สิ้นเดือน ธ.ค.67 จะมีภาระต้นทุนคงค้างที่ กฟผ. รับภาระแทนประชาชนคงเหลืออยู่ที่ 65,663 ล้านบาท ในขณะที่รัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติจะได้รับเงินคืนส่วนต่างราคาก๊าซฯคืนทั้งหมด
กรณีที่ 3: กรณีจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 6 งวด ค่า Ft ขายปลีกเท่ากับ 86.55 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.65 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จากงวดปัจจุบัน
คำนวณสะท้อนแนวโน้มต้นทุน 34.30 สตางค์ต่อหน่วย และทยอยชำระคืน กฟผ. เป็น 6 งวดๆ ละจำนวน 16,416 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 27.23 สตางค์ต่อหน่วย) และมูลค่า AFGAS จำนวน 15,083.79 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 25.02 สตางค์ต่อหน่วย) รวมทั้งสิ้นเท่ากับ 52.25 สตางค์ต่อหน่วย คาดว่า ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 67 จะมีภาระต้นทุนคงค้างที่ กฟผ. คงเหลืออยู่ที่ 82,079 ล้านบาท ในขณะที่รัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ จะได้รับเงินคืนส่วนต่างราคาก๊าซฯคืนทั้งหมด
นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการ กกพ. ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายของปีนี้เพิ่มขึ้นยังมาจากต้นทุนเชื้อเพลิงก๊าซ ทั้งก๊าซในอ่าวไทย และ LNG Spot นำเข้า ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลัก 57% ในการผลิตไฟฟ้ามีราคาสูงขึ้น เพราะก๊าซทั้งสองแหล่งต่างได้รับผลกระทบต่อโครงสร้างต้นทุนจากค่าเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องเฉลี่ยอยู่ที่ 36.63 บาท/ดอลลาร์ จากต้นปีอยู่ที่ 33 บาท/ดอลลาร์ และตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมาภาวะราคา LNG Spot ในตลาดโลกมีการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติอย่างต่อเนื่องทั้งปริมาณและราคาซึ่งเฉลี่ยอยู่ในระดับ 10-12 ดอลลาร์/ล้านบีทียู และคาดการณ์ราคาจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี 2567 ขึ้นมาอยู่ที่เฉลี่ย 13 ดอลลาร์/ล้านบีทียู เนื่องจากมีปริมาณความต้องการใช้เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาว
ส่วนปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยกำลังการผลิตได้กลับมาสู่ภาวะปกติแล้วเช่นกัน โดยมีปริมาณการผลิตทุกแหล่งรวมกันเฉลี่ย 2,184 ล้านบีทียู/วัน แต่แหล่งก๊าซในเมียนมาร์ยังคงมีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ 468 ล้านบีทียู/วัน จากงวดก่อนหน้านี้อยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 483 ล้านบีทียู/วัน ส่งผลต้องมีการนำเข้า LNG Spot เข้ามาทดแทน
ในการคำนวณค่า Ft นั้น กกพ.จะพิจารณาจากข้อมูลทุกอย่าง และดำเนินการตามระเบียบที่กำหนดไว้อย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยคำนึงถึงผลกระทบทั้งเรื่องปัญหาปากท้องของประชาชน และความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศเกี่ยวกับภาระของรัฐวิสาหกิจที่แบกรับไว้ ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการจัดอันดับเครดิต
“ถ้าคนตัวเล็กไม่ช่วย เราเกรงว่าวันหนึ่งคนตัวใหญ่จะแบกไว้ไม่ไหว” นายพูลพัฒน์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ก.ค. 67)
Tags: กกพ., ค่า Ft, ค่าไฟ, ค่าไฟฟ้า