ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัย พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ สะท้อนการใช้อำนาจตามกฎหมายภายใต้การดูแลของ ก.ล.ต. มั่นใจกระบวนการบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ พร้อมเปิดเผยสถิติการดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย
ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่า บทสันนิษฐานว่าเป็นบุคคลที่รู้หรือครอบครองข้อมูลภายในตามมาตรา 243 และมาตรา 244 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) และการนำอายุความฟ้องคดีอาญามาใช้บังคับกับฟ้องคดีแพ่งเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งตามมาตรา 317/13 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 วรรคหนึ่ง และมาตรา 29 วรรคสอง นั้น
นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า “ในกรณีนี้มีการฟ้องศาลรัฐธรรมนูญว่า พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ในมาตราดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ และ ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ได้ชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการสนับสนุนว่า ก.ล.ต. มีอำนาจตามกฎหมายและสามารถนำบทบัญญัติตามกฎหมายดังกล่าวมาบังคับใช้กับผู้กระทำผิดได้ ซึ่งจะทำให้กระบวนการบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด ทั้งการดำเนินการทางอาญาและการดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่ง ขอให้มั่นใจว่า ก.ล.ต. ได้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างรอบคอบและเป็นธรรมกับผู้เกี่ยวข้อง”
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา (วันที่ 1 มกราคม 2560-30 มิถุนายน 2567) ก.ล.ต. ได้ดำเนินคดีอาญา โดยกล่าวโทษผู้กระทำผิดต่อพนักงานสอบสวน รวม 156 คดี มีผู้ถูกกล่าวโทษ 558 ราย และดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำผิด รวม 62 คดี จำนวนผู้กระทำผิด 246 ราย โดยผู้กระทำผิดตกลงทำบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) กำหนด แบ่งเป็นค่าปรับทางแพ่ง จำนวน 1,567.70 ล้านบาท และชดใช้เงินเท่าผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำผิด จำนวน 194.32 ล้านบาท ซึ่ง ก.ล.ต. นำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดไม่ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด ก.ล.ต. มีอำนาจฟ้องบุคคลนั้นต่อศาลแพ่ง ซึ่งที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาล 18 คดี ในฐานความผิด เช่น การซื้อขายหลักทรัพย์โดยรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน และการสร้างราคาหลักทรัพย์ โดยมี 5 คดีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว และอีก 5 คดีที่ศาลชั้นต้นได้พิพากษาแล้ว (ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์) ซึ่งทั้ง 10 คดีศาลได้พิพากษาให้ ก.ล.ต. ชนะคดี โดยลงโทษและกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งแก่จำเลยในอัตราสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ อีก 8 คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ก.ค. 67)
Tags: ก.ล.ต., ตลาดหลักทรัพย์, ศาลรัฐธรรมนูญ