นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) เดือนมิ.ย. 67 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจ และหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 24-28 มิ.ย. 67 โดยดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 54.2 ลดลงจากระดับ 55.1 ในเดือนพ.ค. 67
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในแต่ละภูมิภาค เป็นดังนี้
– กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีฯ อยู่ที่ 53.7 ลดลงจากเดือนพ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 54.7
– ภาคกลาง ดัชนีฯ อยู่ที่ 53.8 ลดลงจากเดือนพ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 54.9
– ภาคตะวันออก ดัชนีฯ อยู่ที่ 56.9 ลดลงจากเดือนพ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 57.7
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 52.8 ลดลงจากเดือนพ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 53.6
– ภาคเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 54.5 ลดลงจากเดือนพ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 55.2
– ภาคใต้ ดัชนีฯ อยู่ที่ 53.4 ลดลงจากเดือนพ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 54.5
ปัจจัยลบ ได้แก่
1. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปี เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ
2. ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ค่าพลังงานที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง รวมทั้งต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น
3. ราคาน้ำมันขายปลีกแก๊สโซฮอล์ ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล์ ออกเทน 95 ในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 0.60 บาทต่อลิตร อยู่ที่ระดับ 38.38 และ 38.75 บาทต่อลิตร ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศ ยังคงทรงตัวจากเดือนที่ผ่านมา
4. SET Index เดือน มิ.ย. 67 ปรับตัวลดลง 44.70 จุด จาก 1,345.66 ณ สิ้นเดือน พ.ค. 67 เป็น 1,300.96 ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 67
5. ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับ 36.636 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน พ.ค. 67 เป็น 36.704 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 67 สะท้อนว่ามีการไหลออกสุทธิของเงินตราต่างประเทศ
6. ความกังวลต่ออัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ที่รัฐบาลจะให้มีการปรับเพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกันทั้งประเทศ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนของธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น
7. ความกังวลจากสถานการณ์ภัยธรรมชาติที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายต่อธุรกิจในพื้นที่
8. ความกังวลต่อเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศไทย ที่ยังมีความไม่แน่นอน ตลอดจนนโยบายด้านเศรษฐกิจของภาครัฐยังไม่มีความชัดเจน
ปัจจัยบวก ได้แก่
1. ภาครัฐออกมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในเมืองรอง 55 จังหวัด ในช่วงระหว่างวันที่ 1 พ.ค.-30 พ.ย. 67
2. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์
3. นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวนมากขึ้น ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น
4. ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัว ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น และมีกำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น
5. การส่งออกของไทยเดือนพ.ค. 67 ขยายตัว 7.20% มูลค่าอยู่ที่ 26,219.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าลดลง 1.66% มีมูลค่าอยู่ที่ 25,563.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้เกินดุลการค้า 656.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้ ภาคธุรกิจได้เสนอแนวทางดำเนินการในการแก้ไขปัญหา ดังนี้
– แนวทางการสนับสนุนของภาครัฐ เพื่อช่วยเหลือด้านมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย เช่น มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง มาตรการกระตุ้นที่สามารถเพิ่มยอดคำสั่งซื้อสินค้า/บริการ ในทุกสาขาธุรกิจ
– การดูแลปัญหาเกี่ยวกับต้นทุนราคาที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายของธุรกิจ SME
– เพิ่มแหล่งเงินทุนสำหรับ SMEs ที่ไม่ได้อยู่ในระบบ หรือธุรกิจฐานราก
– มาตรการช่วยเหลือด้านการเพิ่มศักยภาพของธุรกิจให้เข้าถึงโอกาสของตลาดใหม่ ๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
– มาตรการกำกับแก้ไขปัญหาที่เกิดจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ในพื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ
– การรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาท ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาคธุรกิจมีความห่วงใยเพิ่มขึ้นต่อทิศทางการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน ซึ่งแม้คณะกรรมการไตรภาคีจะยังไม่สรุปชัดเจนว่าจะให้ปรับขึ้นได้ 400 บาท/วันทั่วประเทศหรือไม่ก็ตาม ซึ่งต้องติดตามว่าหากมีการปรับขึ้นจริง รัฐบาลจะมีมาตรการบรรเทาผลกระทบนี้ให้กับภาคธุรกิจอย่างไร เช่น การเพิ่มวงเงินหักลดหย่อนภาษีได้มากขึ้น หรือการช่วยให้ SMEs สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ก.ค. 67)
Tags: ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย, ธนวรรธน์ พลวิชัย, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, วชิร คูณทวีเทพ