ธนาคารกลางนิวซีแลนด์คงดอกเบี้ยที่ 5.5% แต่ส่งสัญญาณปรับลดหากเงินเฟ้อชะลอตัว

ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 5.5% ในวันนี้ (10 ก.ค.) แต่ส่งสัญญาณว่าอาจผ่อนคลายนโยบายการเงินลง หากอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวตามคาด

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การตัดสินใจครั้งนี้สอดคล้องกับที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ประเมินไว้ แต่แถลงการณ์ประกอบการตัดสินใจของธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) มีท่าทีผ่อนคลายมากกว่าที่หลายฝ่ายคาด

“คณะกรรมการเห็นพ้องว่า นโยบายการเงินจะยังคงเข้มงวดต่อไป แต่ระดับความเข้มงวดจะค่อย ๆ ผ่อนคลายลง สอดคล้องกับแนวโน้มขาลงของแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ” แถลงการณ์ระบุ

แถลงการณ์ดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากการประชุมครั้งก่อนเมื่อเดือนพ.ค. ที่ RBNZ ระบุว่า นโยบายการเงินคาดว่าจะยังคงเข้มงวดต่อไปอีกนาน และถึงขั้นส่งสัญญาณว่าอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหากคุมเงินเฟ้อไม่อยู่

หลังการประกาศนโยบาย ดอลลาร์นิวซีแลนด์ร่วงลง 0.74% สู่ระดับ 0.6085 ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากตลาดคาดการณ์ว่า RBNZ จะเริ่มลดดอกเบี้ยเร็วกว่าเดิม โดยดอลลาร์นิวซีแลนด์แตะระดับต่ำสุดในรอบ 16 เดือนเมื่อเทียบกับดอลลาร์ออสเตรเลีย ส่วนอัตราสวอป 2 ปี ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือนที่ 4.6850% ซึ่งบ่งชี้ถึงกระแสคาดการณ์ว่า RBNZ อาจลดดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนต.ค.

นายอภิชิต สุริยะ นักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ของ Capital Economics ระบุในบันทึกว่า “RBNZ ดูมีท่าทีผ่อนคลายทางการเงินในการแถลงครั้งนี้ สารของคณะกรรมการทำให้เรามั่นใจมากขึ้นว่า ธนาคารกลางจะเริ่มลดดอกเบี้ยในเดือนพ.ย.”

RBNZ คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับสู่กรอบเป้าหมายที่ 1%-3% ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จากที่เคยพุ่งขึ้นไปถึง 4% ในไตรมาสแรก

แม้ว่าข้อมูลเงินเฟ้อไตรมาสสองจะยังไม่ออกมาจนกว่าจะถึงสัปดาห์หน้า แต่บางองค์ประกอบที่มีการเผยแพร่เป็นรายเดือน เช่น ราคาอาหาร เริ่มชะลอตัวลงแล้ว นอกจากนี้ ภาวะเงินเฟ้อก็เป็นที่คาดหมายกันว่ากำลังผ่อนคลายลง และความเชื่อมั่นทางธุรกิจก็อ่อนแอ

“แรงกดดันด้านราคาภายในประเทศบางส่วนยังคงรุนแรง แต่มีสัญญาณว่าเงินเฟ้อจะผ่อนคลายลง สอดคล้องกับการลดลงของแรงกดดันด้านกำลังการผลิตและความตั้งใจในการขึ้นราคาของธุรกิจ” ธนาคารกลางระบุ

ทั้งนี้ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ผ่าน ๆ มาทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างมาก แม้ว่าข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่านิวซีแลนด์หลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิคในไตรมาสแรกของปี 2567 ด้วยอัตราการเติบโตที่ 0.2%

ก่อนมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในวันนี้ นักเศรษฐศาสตร์ 22 จาก 32 คนที่รอยเตอร์สำรวจ คาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ยจะลดลงสู่ระดับ 5.25% หรือต่ำกว่าภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่อีก 10 คนคาดว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ขณะนี้นักเศรษฐศาสตร์มองว่ามีความเป็นไปได้มากขึ้นที่ RBNZ จะลดดอกเบี้ยเร็วขึ้นหรือลดมากกว่าหนึ่งครั้ง

ชารอน ซอลล์เนอร์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ ANZ ระบุในบันทึกว่า “เราเน้นย้ำเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า แนวโน้มกำลังเอียงไปทางการปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนพ.ย. มากกว่าจะเป็นเดือนก.พ.ตามที่เราคาดการณ์ไว้ การทบทวนในวันนี้ยิ่งทำให้แนวโน้มเอียงไปทางพ.ย.มากขึ้นเล็กน้อย แต่ข้อมูลเศรษฐกิจจะเป็นตัวตัดสิน”

ทั้งนี้ RBNZ เป็นหนึ่งในธนาคารกลางแห่งแรก ๆ ของโลกที่เริ่มถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยุคโควิด-19 โดยได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้วถึง 5.25% นับตั้งแต่เดือนต.ค. 2564 เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ถือเป็นการคุมเข้มนโยบายการเงินที่ดุดันที่สุดนับตั้งแต่เริ่มใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างเป็นทางการในปี 2542

นิวซีแลนด์ตามรอยธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลกในการเริ่มพิจารณาลดดอกเบี้ย โดยธนาคารกลางยุโรป, แคนาดา, สวีเดน และสวิตเซอร์แลนด์ ต่างก็ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเมื่อเร็ว ๆ นี้ แม้กระทั่งผู้กำหนดนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก็เป็นที่คาดว่าจะมีการหารือกันเรื่องการลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไปในปลายเดือนก.ค.

อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของนิวซีแลนด์ กลับสวนกระแสดังกล่าว โดยเพิ่งหารือกันเมื่อเดือนที่แล้วว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ เนื่องจากเงินเฟ้อมีความเสี่ยงที่จะเพิ่มขึ้น

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ก.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top