เงินเฟ้อภาคค้าส่งญี่ปุ่นเพิ่ม 2.9% ในเดือนมิ.ย. เยนอ่อนหนุนต้นทุนนำเข้าพุ่ง

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยข้อมูลในวันนี้ (10 ก.ค.) ว่า ดัชนีราคาสินค้าผู้ประกอบการ (CGPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดราคาสินค้าและบริการที่สั่งซื้อโดยบริษัทญี่ปุ่นและเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากภาคค้าส่ง เพิ่มขึ้น 2.9% ในเดือนมิ.ย. 2567 เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด

ตัวเลขดังกล่าวเร่งตัวขึ้นจากระดับที่ผ่านการปรับค่าแล้วที่ 2.6% ในเดือนพ.ค. และถือเป็นการปรับตัวสูงขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบเป็นรายปี นับตั้งแต่เดือนส.ค. 2566 โดยดัชนีอยู่ที่ระดับ 122.7 แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ราคาสินค้าขายส่งของญี่ปุ่นในเดือนมิ.ย.ปรับตัวสูงขึ้นในอัตราที่มากกว่าเดิม เนื่องจากเงินเยนอ่อนค่าลง ส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น สถานการณ์ดังกล่าวยิ่งตอกย้ำการคาดการณ์ของตลาดที่มองว่า BOJ อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้

นอกจากนี้ ราคาขายส่งที่ปรับตัวสูงขึ้นยังมีปัจจัยมาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่พุ่งสูงขึ้น รวมถึงการยกเลิกมาตรการอุดหนุนราคาแกโซลีนและเชื้อเพลิง ซึ่งสะท้อนถึงแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

ขณะเดียวกัน ดัชนีราคานำเข้าที่คิดเป็นเงินเยน พุ่งขึ้น 9.5% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเร่งตัวขึ้นจากระดับ 7.1% ในเดือนพ.ค. สะท้อนให้เห็นว่า เงินเยนที่อ่อนค่าลงส่งผลให้ราคาวัตถุดิบนำเข้าที่บริษัทต่าง ๆ เรียกเก็บจากกันปรับตัวสูงขึ้น โดยอัตราการเพิ่มขึ้นของดัชนีดังกล่าวถือว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2566

“ราคาสินค้านำเข้าน่าจะยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อไป เนื่องจากเงินเยนอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องและราคาพลังงานอยู่ในระดับสูง” นายยูทาโร่ ซูซูกิ นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทหลักทรัพย์ไดวะ กล่าว

“เงินเฟ้ออาจเร่งตัวขึ้นจนถึงช่วงฤดูใบไม้ร่วง สะท้อนถึงผลกระทบจากเงินเยนที่อ่อนค่าลงตั้งแต่ต้นปีนี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจของ BOJ ว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อใด” นายซูซูกิกล่าว

ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ BOJ จะนำไปพิจารณาในการประชุมนโยบายครั้งต่อไปในวันที่ 30-31 ก.ค.นี้ ซึ่งคณะกรรมการ BOJ จะเปิดเผยประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจชุดใหม่ และหารือกันว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากระดับใกล้ศูนย์ในปัจจุบันหรือไม่

ทั้งนี้ BOJ ได้ยุติมาตรการอัตราดอกเบี้ยติดลบที่ดำเนินมา 8 ปี และยุติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในเดือนมี.ค. ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการทำให้นโยบายการเงินกลับสู่ภาวะปกติ หลังจากที่คงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ (Ultra-loose Monetary Policy) มาเป็นเวลานาน

ก่อนหน้านี้ นายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการ BOJ กล่าวว่า BOJ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หากมั่นใจมากขึ้นว่าญี่ปุ่นกำลังจะบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน

นายอุเอดะยังกล่าวด้วยว่า BOJ จะ “ดำเนินนโยบายการเงิน” หากความเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของนายเซอิจิ อะดาจิ กรรมการ BOJ ที่เคยกล่าวไว้เมื่อช่วงปลายเดือนพ.ค.

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ก.ค. 67)

Tags: , , , ,
Back to Top