CIMBT จับชีพจรศก.ไทยเริ่มฟื้นครึ่งปีหลัง แต่ระวังสะดุด 4 ปัจจัยเสี่ยง G-E-R-M

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า ธนาคารยังคงประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 67 ไว้ที่ 2.3% และคาดว่าปี 68 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.2% โดยหากรวมโครงการ Digital Wallet 10,000 บาท จะทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้มีโอกาสขยายตัวได้ 2.5%

ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่ช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง จะมาจากภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 35.6 ล้านคนในปีนี้ และเพิ่มขึ้นเป็น 39.1 ล้านคน ในปี 68 โดยการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวนี้ จะช่วยกระตุ้นภาคบริการที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงแรม ร้านอาหาร การขนส่ง และค้าปลีก เป็นต้น

ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังนี้ ยังได้รับปัจจัยหนุนจากการบริโภคภาคเอกชน จากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น และการใช้จ่ายของครัวเรือน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นของรัฐบาล เช่น การอุดหนุนค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค และการแจกเงินสดแก่กลุ่มเป้าหมาย และแผนโครงการ Digital Wallet หากทำได้จริงในปีนี้ จะมีผลบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจอีก 0.2%

อย่างไรก็ตาม การบริโภคโดยรวมน่าจะยังไม่สามารถเติบโตได้แรง เป็นผลจากการลดลงของการซื้อรถยนต์ และสินค้าคงทนอื่น ๆ ขณะที่สินค้ากลุ่มบริการ ยังสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง

ด้านการลงทุน คาดว่าการลงทุนเอกชนจะเติบโตได้ดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของภาคการผลิตเพื่อการส่งออก ส่วนการลงทุนภาครัฐ น่าจะกลับมาขยายตัวได้ดี หลังมีงบประมาณเบิกจ่ายออกมาเต็มที่ โดยเฉพาะการลงทุนด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะฟื้นตัวได้ดี โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของการค้าโลก และความต้องการสินค้าของไทย ทำให้คาดว่าการส่งออกในปี 67 จะขยายตัวได้ 1.6% และปี 68 ขยายตัว 2.7%

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งน่าจะมีผลให้ไทยได้ประโยชน์จากการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนภาคการผลิตและการจ้างงาน โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และอาหารแปรรูป

เศรษฐกิจไทย เสี่ยงป่วยจาก G-E-R-M

ขณะที่มุมมองของ CIMBT ต่อเศรษฐกิจไทย เสี่ยงป่วยจาก G-E-R-M โดยเศรษฐกิจอาจเผชิญความเสี่ยง ประกอบด้วย

  • G-Geo-politics จากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน ต้นทุนขนส่งสินค้าทางเรือจะสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบที่เป็นต้นทุนสำคัญในภาคการผลิตและขนส่ง ขณะที่ความขัดแย้งในยูเครน ที่อาจยืดเยื้อและรุนแรง จนกระทบอุปทานน้ำมันของรัสเซีย เป็นต้น
  • E-Elections การเลือกตั้งในหลายประเทศที่อาจเปลี่ยนขั้วการเมือง โดยเฉพาะที่น่าติดตาม คือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐวันที่ 5 พ.ย. นี้ จะมีความสำคัญต่อทิศทางการค้า การลงทุน และกระแสโลกาภิวัฒน์ตีกลับ ที่จะกระทบกับเศรษฐกิจไทยได้
  • R-Interest Rate อัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวในระดับสูงเป็นเวลานาน แม้คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยช่วงเดือน ก.ย.-ธ.ค. จากระดับ 5.5% สู่ 5% ในปลายปีนี้ จากตัวเลขการจ้างงาน และอัตราเงินเฟ้อที่เริ่มแผ่วลง แต่หากเฟดยังกังวลต่อทิศทางเงินเฟ้อที่ลดลงช้า และห่วงว่าหากปรับลดดอกเบี้ยเร็วเกินไป จะทำให้เงินเฟ้อกลับมาพุ่งขึ้นต่อได้ ทำให้เฟดอาจเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยตลอดทั้งปี ซึ่งจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐปรับตัวขึ้น
  • M-Manufacturing ภาคการผลิตที่อาจหดตัวต่อเนื่อง ความอ่อนแอของภาคการผลิต มีส่วนสำคัญทำให้เศรษฐกิจไทยอ่อนแอในช่วงที่ผ่านมา ทั้งขาดสินค้าในกลุ่มเทคโนโลยีที่เป็นที่ต้องการของตลาดโลก ขาดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) หรือเติบโตรั้งท้ายในภูมิภาค หรือไทยนำเข้าสินค้าราคาถูกจากจีนเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถแข่งขันได้

7 เหตุผลที่ กนง. อาจลดดอกเบี้ย 0.25% ปลายปีนี้

นายอมรเทพ ยังให้ความเห็นต่อนนโยบายการเงินของไทย โดยมองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในปี 67 ลง 0.25% มาเหลือ 2.25% ในช่วงเดือน ธ.ค.นี้ เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 68 และให้สอดคล้องกับระดับศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย และเป็นไปทิศทางเดียวกับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะปรับลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ ขณะที่ ณ สิ้นปี 68 คาดว่าอัตราดอกเบี้ยของไทย มีโอกาสจะลงไปอยู่ที่ 1.5%

สำหรับสาเหตุที่คาดว่า กนง.จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงปลายปีนี้ ประกอบด้วย 7 เหตุผล

1. อัตราการเติบโตของศักยภาพเศรษฐกิจที่ลดลง ต้องการอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวที่ลดลงของไทย จำเป็นที่จะต้องมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงเพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

2. การลดอัตราดอกเบี้ยหลังจากการปรับลดของเฟด โดยการลดดอกเบี้ยหลังจากเฟดปรับลดดอกเบี้ย สามารถป้องกันการไหลเข้าของเงินทุนที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออก

3. ความอ่อนแอทางเศรษฐกิจพื้นฐาน แม้จะดูเหมือนว่าเศรษฐกิจแข็งแกร่ง แต่ไทยยังเผชิญกับปัญหาการกระจายรายได้ไม่ดี และรายได้ต่ำ ซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไม่แข็งแกร่ง

4. ข้อจำกัดของมาตรการกระตุ้นรัฐบาล ผลกระทบจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล อาจถูกประเมินสูงเกินไป จำเป็นต้องมีการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ

5. การดำเนินการเชิงรุก การลดอัตราดอกเบี้ยในขณะนี้ สามารถเตรียมไทยให้พร้อมสำหรับความยากลำบากที่อาจเกิดขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ และจีนที่ชัดเจนมากขึ้น แทนที่จะรอจนกว่าสถานการณ์จะแย่ลง

6. การสนับสนุน SMEs โดยธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก เป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจไทย สามารถได้ประโยชน์จากต้นทุนการกู้ยืมที่ต่ำลง ช่วยให้สามารถอยู่รอดได้

7. ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่ปัจจุบันยังควบคุมได้ จึงมีพื้นที่ในการลดดอกเบี้ยโดยไม่เสี่ยงต่อแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อ

“ไม่ใช่แค่ปีนี้ ที่มองดอกเบี้ยไทยจะลดลง โดยการปรับลดดอกเบี้ย มีเหตุผลมากมาย แต่เรื่องเวลาเป็นสิ่งสำคัญ โดยตามหลังเฟดจะช่วยรักษาเสถียรภาพได้ และไม่มีนโยบายการคลังร้อนแรงจนเกินไป ดังนั้นการปรับลดดอกเบี้ย หากไม่มีนโยบาย Digital Wallet ก็สามารถทำได้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ส่วนมาตรการ Digital Wallet จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้นเท่านั้น โดยปลายปีทำให้จีดีพีมีโอกาสทะลุ 4% ได้มากขึ้น เวลาอัดเงินแจกเงินจะกระตุ้นได้ในระยะสั้น แต่พอหมดมาตรการก็จะแผ่วลง ระมัดระวังการใช้จ่ายหลังจากนั้น ต้องประเมินให้ดี โดยปีหน้า อาจจะเห็นเศรษฐกิจโตช้าลงได้” นายอมรเทพ กล่าว

ส่วนความเห็นต่างระหว่างกระทรวงการคลัง กับ ธปท.ในเรื่องนโยบายดอกเบี้ย ที่กระทรวงการคลังต้องการให้ลดดอกเบี้ย เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ในมุมของ กนง.ยังคงอัตราดอกเบี้ยนั้น เนื่องจากเห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ ไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยมาสนับสนุน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน ช่วยในการควบคุมเงินเฟ้อ และยังป้องกันการรับความเสี่ยงเกินควร รวมถึงอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน ให้พื้นที่สำหรับการปรับเปลี่ยนในอนาคตหากมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่สำคัญ

เงินบาท Q3 แนวโน้มแข็งค่า ลุ้นเฟดลดดอกเบี้ย

นายอมรเทพ ยังประเมินแนวโน้มค่าเงินบาท โดยคาดว่าเงินบาทจะแข็งค่าจากระดับ 36.70 บาท/ดอลลาร์ ในสิ้นเดือนมิ.ย. มาอยู่ที่ 36.50 บาท/ดอลลาร์ ในสิ้นเดือนก.ย. โดยเงินบาทมีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในไตรมาส 3/67 ตามการคาดการณ์ว่าจะมีการลดดอกเบี้ยของสหรัฐในเดือนก.ย. ซึ่งจะช่วยลดความกังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องของตลาดการเงิน และช่วยให้เงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย

อย่างไรก็ตาม คาดว่าเงินบาทปลายปี 67 จะอ่อนค่าลงไปอยู่ที่ 37 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นในเศรษฐกิจสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ

ส่วนกรณีที่ในปี 67 จะมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดค่อนข้างมาก ซึ่งทำให้กังวลผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้นั้น นายอมรเทพ แนะนำนักลงทุนให้หากลุ่มเรตติ้งดี มีความสามารถในการชำระหนี้ หากมองความไม่แน่นอนตลาดหุ้นในปัจจุบัน จะเห็นว่าเป็นโอกาสของนักลงทุนที่จะหาผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝาก และรับความเสี่ยงได้ โดยมีการครบกำหนดหุ้นกู้ ประกอบกับเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำ จึงต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ก.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top