กรมอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติสหรัฐ (NWS) รายงานในวันอาทิตย์ (7 ก.ค.) ว่า ประชาชนราว 36 ล้านคน หรือประมาณ 10% ของประชากรทั้งประเทศ อยู่ในพื้นที่ที่มีประกาศเตือนเรื่องอากาศร้อน (Heat Warning) อันเป็นผลมาจากโดมความร้อนที่ปกคลุมรัฐแคลิฟอร์เนีย นอกจากนั้นยังมีอีกประมาณ 1 ล้านคนอยู่ในพื้นที่เฝ้าระวังอากาศร้อนสูงเกินปกติ (Heat Watch) ซึ่งรวมถึงพื้นที่ทางตะวันออกของรัฐออริกอน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐเนวาดา และทางตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐไอดาโฮ
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า อุณหภูมิในรัฐวอชิงตัน ออริกอน แคลิฟอร์เนีย แอริโซนาตอนเหนือ และไอดาโฮตอนกลาง คาดว่าจะสูงแตะหรือทำลายสถิติรายวัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อุทยานแห่งชาติเดธแวลลีย์ บริเวณชายแดนรัฐแคลิฟอร์เนียกับเนวาดา ที่ NWS คาดการณ์ว่าอุณหภูมิจะพุ่งสูงถึง 54 องศาเซลเซียส ไปจนถึงวันศุกร์นี้ (12 ก.ค.)
สื่อหลายสำนักรายงานโดยอ้างแถลงการณ์ของรัฐบาลว่า เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (6 ก.ค.) อุณหภูมิที่เดธแวลลีย์สูงถึง 53 องศาเซลเซียส ทำลายสถิติเดิมเมื่อ 17 ปีที่แล้ว และทำให้ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รายหนึ่งเสียชีวิตจากสภาพอากาศร้อนจัด
ส่วนที่ลาสเวกัส อุณหภูมิสูงถึง 46 องศาเซลเซียส เทียบเท่ากับสถิติเดิมที่เคยบันทึกไว้ในปี 2550
นายไบรอัน แจ็คสัน นักอุตุนิยมวิทยาของ NWS กล่าวว่า ในบางพื้นที่ เช่น เรดดิง เมืองทางตอนเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนีย มีอุณหภูมิสูงกว่าปกติถึง 11 องศาเซลเซียส โดยเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา อุณหภูมิที่นี่สูงถึง 48 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
“เราคาดว่าคลื่นความร้อนนี้จะเคลื่อนตัวไปทางตะวันออกในช่วงต้นสัปดาห์หน้า และจะยังคงอยู่ตลอดทั้งสัปดาห์ นั่นหมายความว่าเรากำลังเผชิญกับคลื่นความร้อนรุนแรงที่แผ่กระจายเป็นวงกว้าง และคาดว่าจะยังคงดำเนินต่อไปตลอดสัปดาห์นี้” นายแจ็คสันกล่าว
ขณะเดียวกัน NWS ยังเตือนถึงความเสี่ยงที่จะเกิดไฟป่าเพิ่มขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อน แห้ง และลมแรงอีกด้วย
หน่วยดับเพลิงแคลิฟอร์เนีย (Cal Fire) รายงานว่า เมื่อค่ำวันเสาร์ที่ผ่านมา ทางการสั่งให้ประชาชนอพยพออกจากบางพื้นที่ในเคาน์ตีซานตาบาร์บารา ทางตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนีย หลังเกิดไฟป่าที่เรียกว่า “เลคไฟร์” (Lake Fire) ไหม้ลุกลามพื้นที่กว่า 13,000 เอเคอร์นับตั้งแต่วันศุกร์ (5 ก.ค.) โดยขณะนี้ยังไม่สามารถควบคุมเพลิงได้ และเจ้าหน้าที่กำลังเร่งสืบสวนหาสาเหตุ
อนึ่ง ตามรายงานของโครงการบริการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัส (Copernicus Climate Change Service หรือ C3S) ซึ่งเป็นหน่วยงานติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรป (EU) พบว่า ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา แต่ละเดือนถูกบันทึกว่าเป็นเดือนที่อากาศร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และเป็นเช่นนี้ทั่วโลก
C3S ชี้ให้เห็นว่า กิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.ค. 67)
Tags: กรมอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติสหรัฐ, คลื่นความร้อน, ชาวมะกัน, สหรัฐ