บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) ให้แก่โครงการหุ้นกู้ระยะกลาง (Medium-Term Note Program หรือ MTN) มูลค่ารวมไม่เกิน 3 แสนล้านบาทที่จะมีการออกจำหน่ายของ บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย (SCC, อันดับเครดิต ‘A(tha)’/ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ที่ระดับ ‘A(tha)’
โครงการ MTN ดังกล่าวได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับเดียวกันกับ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ SCC เนื่องจาก หุ้นกู้ที่จะมีการออกจำหน่ายภายใต้โครงการ MTN มีสถานะเท่าเทียมกับหนี้ไม่มีหลักประกัน และไม่ด้อยสิทธิของ SCC
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
อัตราส่วนหนี้สินจะลดลงอย่างต่อเนื่อง – ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของ SCC จะลดลงอย่างต่อเนื่อง จากการคาดการณ์ของฟิทช์ว่า กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จะเพิ่มสู่ระดับ 5.2 หมื่นล้านบาท ในปี 2567 และ 6.2 หมื่นล้านบาท ในปี 2568 จากระดับ 3.7 หมื่นล้านบาท ในปี 2566 อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (หลังรวมเงินปันผลรับจากบริษัทร่วมและหักเงินปันผลจ่ายแก่ผู้ถือหุ้นส่วนน้อย) (EBITDA net leverage) ของ SCC จะลดลงไปอยู่ที่ประมาณ 4.7 เท่าในปี 2567 (ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567 อยู่ที่ 6.5 เท่า) และ 3.7 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตของ SCC ในปี 2568
ฟิทช์คาดว่า การเริ่มดำเนินการผลิตเต็มรูปแบบของโครงการ Long Son Petrochemicals (LSP) ในประเทศเวียดนาม และการฟื้นตัวเล็กน้อยของส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์พอลิเอทิลีนกับวัตถุดิบ จะช่วยสนับสนุนให้ EBITDA เติบโตตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ฟิทช์เชื่อว่า ราคาขายของบรรจุภัณฑ์กระดาษจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้ กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย ต่อรายได้ (EBITDA Margin) ของธุรกิจแพคเกจจิ้งปรับตัวดีขึ้นในปี 2567-2568
ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมียังคงอ่อนแอ – ฟิทช์คาดว่า ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบ ของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี จะยังคงอ่อนแอในปี 2567 แม้ว่าจะฟื้นตัวบ้างเล็กน้อยจากปี 2566 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของกำลังการผลิตใหม่ในอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกำลังการผลิตพอลิโพรพิลีน ประกอบกับในช่วงเวลานี้ความต้องการของผู้บริโภคในภูมิภาคมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะเมื่อฟิทช์คาดการณ์ว่าการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศจีน จะยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงก่อนการเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา อย่างน้อยจนกระทั่งถึงปี 2569 ด้วยเหตุนี้ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วน EBITDA Margin ของธุรกิจเคมิคอลส์จะอยู่ในระดับต่ำที่ประมาณร้อยละ 6 ในปี 2567 และร้อยละ 8 ในปี 2568 เมื่อเทียบกับ EBITDA Margin ของช่วงกลางวัฎจักรก่อนเกิดสถานการณ์โรคระบาดที่ระดับประมาณร้อยละ 14
อัตราการใช้กำลังการผลิตของ LSP ที่เพิ่มขึ้น – ฟิทช์คาดว่าโครงการ LSP จะเริ่มดำเนินการผลิตเต็มรูปแบบในเดือนสิงหาคม 2567 และอัตราการใช้กำลังการผลิตของโครงการจะเพิ่มสู่ระดับประมาณร้อยละ 80-90 ในปี 2568 เนื่องจากความได้เปรียบเชิงต้นทุนของตลาดภายในประเทศ เมื่อเทียบกับสินค้าพอลิเมอร์นำเข้า และความยืดหยุ่นของโครงการที่สามารถใช้ได้ทั้ง โพรเพน และแนฟทาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตในปัจจุบัน ประเทศเวียดนามมีการนำเข้าสินค้าพอลิเมอร์เกือบทั้งหมดสำหรับความต้องการใช้ในประเทศ อย่างไรก็ตาม EBITDA จาก LSP น่าจะเพิ่มขึ้นช้ากว่าการเพิ่มขึ้นของปริมาณการขาย เนื่องจากจะถูกลดทอนด้วยส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ยังคงอ่อนแออยู่
สิทธิในการขายหุ้น Fajar ในธุรกิจแพคเกจจิ้ง – บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP, A(tha)’, แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่สำคัญของ SCC มีความเป็นไปได้ที่จะซื้อหุ้นในสัดส่วน 44.48% ของ PT Fajar Surya Wisesa Tbk (Fajar) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ SCGP ในประเทศอินโดนีเซีย ด้วยเงินลงทุนมูลค่าประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท โดย SCGP คาดว่าผู้ถือหุ้น Fajar ที่เป็นพันธมิตรในการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน มีโอกาสสูงที่จะใช้สิทธิในการขายหุ้น (put option) ในช่วงกลางปี 2567 ซึ่งการลงทุนนี้จะทำให้การลดลงของอัตราส่วนหนี้สินของ SCC ล่าช้าออกไปในระยะสั้น
การลดค่าใช้จ่ายลงทุน – ฟิทช์เชื่อว่า SCC จะยังไม่มีแผนการลงทุนขนาดใหญ่ ในช่วงที่สภาวะตลาดยังอ่อนแอและอัตราส่วนหนี้สินยังคงสูง ดังนั้น ฟิทช์ประมาณการค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่ไม่รวมแผนการลงทุนเพิ่มเติมใน Fajar ที่ประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาทในปี 2567 และประมาณ 3.0 หมื่นล้านในปี 2568 ซึ่งลดลงจาก 3.4 หมื่นล้านในปี 2566 โดยส่วนใหญ่คาดว่าจะใช้ในการบำรุงรักษาและการปรับปรุงประสิทธิภาพ
สถานะความเป็นผู้นำตลาด – SCC มีสถานะเป็นผู้นำตลาดในธุรกิจหลักของบริษัทฯ ได้แก่ กลุ่มสินค้าปูนซีเมนต์ กระเบื้องเซรามิก ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย (พอลิโอเลฟินส์และพีวีซี) และกระดาษบรรจุภัณฑ์ ในประเทศไทยและหลายประเทศในอาเซียน สถานะผู้นำตลาดในแต่ละผลิตภัณฑ์และประโยชน์ที่ได้รับจากการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงเฉพาะที่อาจเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
SCC มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่า บมจ.ปูนซีเมนต์นครหลวง (SCCC, ‘A(tha)’/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งอยู่ในธุรกิจผลิตภัณฑ์ก่อสร้างเช่นเดียวกัน โดย SCC มีส่วนแบ่งทางการตลาดของปูนซีเมนต์ในประเทศที่สูงกว่า มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่า รวมถึงมีการกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์และการกระจายความเสี่ยงของกระแสเงินสดจากหลากหลายธุรกิจกว่า อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งทางสถานะทางธุรกิจที่สูงกว่า ได้ถูกลดทอนจากอัตราส่วนหนี้สินของ SCC ที่สูงกว่า SCCC ทำให้อันดับเครดิตของ SCC และ SCCC อยู่ในระดับเดียวกัน
เมื่อเปรียบเทียบกับ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC, อันดับเครดิต ‘AA(tha)’ แนวโน้มเครดิตเป็นลบ, สถานะเครดิตโดยลำพัง ‘a+(tha)’) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่นน้ำมันครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย SCC มีการกระจายความเสี่ยงในธุรกิจอื่นที่หลากหลายกว่า ซึ่งทำให้ SCC มีความเสี่ยงต่อความผันผวนของธุรกิจปิโตรเคมีที่น้อยกว่า PTTGC มีสถานะเครดิตโดยลำพังที่สูงกว่าอันดับเครดิตของ SCC อยู่หนึ่งอันดับ เนื่องจาก PTTGC มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเครดิตเป็นลบของ PTTGC สะท้อนถึงความเสี่ยงที่อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ มีแนวโน้มที่จะอยู่สูงเกินกว่าที่คาด
SCC มีอันดับเครดิตสูงกว่าสถานะเครดิตโดยลำพังของ บมจ.ไทยออยล์ (TOP, อันดับเครดิต ‘A+(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ, สถานะเครดิตโดยลำพัง ‘a-(tha)’) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันที่มีกระบวนการกลั่นน้ำมันแบบคอมเพล็กซ์และเป็นรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อยู่หนึ่งอันดับ ซึ่งสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจของ SCC ที่ดีกว่า SCC มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งกว่า และมีการกระจายความเสี่ยงของกระแสเงินสดจากหลากหลายธุรกิจกว่า โดยทั้งสองบริษัทมีฐานะทางการเงินที่ใกล้เคียงกัน
สมมติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
– รายได้รวมเพิ่มขึ้นในอัตราประมาณร้อยละ 7 ในปี 2567 และประมาณร้อยละ 10 ในปี 2568 (ปี 2566 ลดลงร้อยละ 12.3) ส่วนใหญ่เป็นผลจากดำเนินการผลิตอย่างเต็มรูปแบบของโครงการ LSP
– EBITDA Margin เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10-11 ต่อปี ในปี 2567-2568 (ปี 2566 ร้อยละ 7) จากการฟื้นตัวของส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และการฟื้นตัวของราคาขายบรรจุภัณฑ์
– ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน ประมาณ 4.8 หมื่นล้านบาทในปี 2567 และประมาณ 3.0 หมื่นล้านบาทในปี 2568 (ปี 2566 3.7 หมื่นล้านบาท)
– อัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิ (Dividend Payout) ที่ระดับร้อยละ 40 ในปี 2567-2568
ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:
– อัตราส่วน EBITDA net leverage ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 3.5 เท่า อย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยลบ:
– กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ปรับตัวลดลง หรือการลงทุนโดยให้แหล่งเงินทุนมาจากการกู้ยืม ซึ่งส่งผลให้ EBITDA net leverage สูงกว่า 4.5 เท่า อย่างต่อเนื่อง
– สถานะทางธุรกิจที่อ่อนแอลง ซึ่งสะท้อนโดย EBITDA ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
สภาพคล่องอยู่ในเกณฑ์ที่ดี: SCC มีหนี้สินที่ครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้านับจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2568 จำนวนประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ประกอบด้วยเงินกู้ยืมระยะสั้นสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท เงินกู้ระยะยาวที่ครบกำหนดชำระประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท และหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนประมาณ 6.6 หมื่นล้านบาท
สภาพคล่องของ SCC ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดและเงินลงทุนที่มีสภาพคล่องเทียบเท่าเงินสด (ตามการปรับปรุงตัวเลขของฟิทช์) จำนวนประมาณ 7.7 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567 ซึ่งเพียงพอสำหรับการชำระคืนเงินกู้ระยะยาว และหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอน ในขณะที่ฟิทช์เชื่อว่าเงินกู้ยืมระยะสั้นสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนจะสามารถเบิกเงินกู้ใหม่หมุนเวียนทดแทนเงินกู้เดิมได้ เนื่องจากบริษัทฯ มีความสามารถที่จะเข้าถึงตลาดตราสารหนี้ในประเทศ และแหล่งเงินกู้จากธนาคารที่เพียงพอ ในฐานะหนึ่งในกลุ่มบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ก.ค. 67)
Tags: ฟิทช์, ฟิทช์ เรทติ้งส์