เจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) ออกมาชี้แจงในวันนี้ (4 ก.ค.) ว่า รัฐบาลควรแก้ปัญหาค่าครองชีพแพงด้วยการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง แทนที่จะพึ่งพาธนาคารกลางเพียงฝ่ายเดียว เพราะภารกิจหลักของ BOK คือการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ไม่ใช่ระดับราคาสินค้า
“การมุ่งเป้าไปที่ระดับราคาแทนที่จะเป็นอัตราเงินเฟ้อ อาจนำไปสู่ความผันผวนทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่สูงขึ้นได้ เนื่องจากนโยบายการเงินจะตอบสนองต่อแนวโน้มราคาอย่างล่าช้า” นายริว ซังได รองผู้ว่าการอาวุโสของ BOK เขียนตอบคำถามของสำนักข่าวรอยเตอร์
คำชี้แจงดังกล่าวมีขึ้นท่ามกลางราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะอาหารหลักของเกาหลีใต้อย่างแอปเปิลและต้นหอม เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นร้อนในการเมืองเกาหลีใต้นับตั้งแต่การเลือกตั้งรัฐสภาเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งพรรคของประธานาธิบดียุน ซอกยอล พ่ายแพ้ยับเยิน โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งไม่พอใจต่อปัญหาราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้น
ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของเกาหลีใต้ชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 2.4% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งถือเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.ปีที่แล้ว ในทางกลับกัน ดัชนีค่าอาหาร ที่อยู่อาศัย และเครื่องนุ่งห่มของเกาหลีใต้ในปี 2566 อยู่ที่ระดับ 155 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD ที่ 100 จุด ตามข้อมูลของ BOK เอง
ทั้งนี้ BOK จะมีการประชุมนโยบายการเงินในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะเป็นการประชุมครั้งแรกหลังจากที่ปธน.ยุนส่งสัญญาณว่าอาจจำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ย ท่าทีดังกล่าวของรัฐบาลทำให้เกิดกระแสคาดการณ์ว่า BOK อาจตัดสินใจผ่อนคลายนโยบายการเงิน
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า BOK จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50% ภายในไตรมาสที่ 4 จากปัจจุบันอยู่ที่ 3.50% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี
ด้านนายริวปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเรื่องอัตราดอกเบี้ยก่อนการประชุมในสัปดาห์หน้า แต่กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวของค่าเงินวอนในช่วงที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ว่า BOK จะลดดอกเบี้ยนั้น ได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย ทั้งภาวะเศรษฐกิจของเกาหลีใต้และกระแสเงินทุน
เมื่อถูกถามว่า BOK พร้อมที่จะรับมือกับการขยายเวลาซื้อขายดอลลาร์/วอน ซึ่งเริ่มต้นไปเมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมาหรือไม่ นายริวกล่าวว่าเขาตระหนักดีว่าอาจมีความผันผวนเพิ่มขึ้น และปริมาณการซื้อขายอาจเบาบางลงในช่วงกลางคืนในช่วงแรก ๆ
“หน่วยงานกำกับดูแลอัตราแลกเปลี่ยนจะยังคงใช้มาตรการรักษาเสถียรภาพของตลาดอย่างเหมาะสม เพื่อบรรเทาความผันผวนหากเกิดการเคลื่อนไหวของค่าเงินอย่างรุนแรงจากพฤติกรรมการซื้อขายแบบแห่ตามกัน” นายริวกล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ก.ค. 67)
Tags: ค่าครองชีพ, ธนาคารกลางเกาหลีใต้, อัตราดอกเบี้ยนโยบาย, เกาหลีใต้, เงินเฟ้อ, แบงก์ชาติเกาหลีใต้