ชาวมุสลิมใน UK จ่อเทใจโหวตเลือกผู้สมัครอิสระโปรปาเลสไตน์ หลังผิดหวังท่าที 2 พรรคใหญ่

ในการเลือกตั้งของอังกฤษในวันพฤหัสบดีที่ 4 ก.ค.นี้ มีผู้สมัครรับเลือกตั้งหลายรายที่ออกตัวสนับสนุนปาเลสไตน์ และหวังใช้ความไม่พอใจของชาวมุสลิมที่มีต่อท่าทีของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ต่อสงครามในกาซา มาเป็นแรงผลักดันให้เกิดการลงคะแนนเสียงตามแคมเปญ “คะแนนเสียงมุสลิม” (The Muslim Vote) หนึ่งในคือ ชานาซ ซัดดีก ผู้สมัครจากพรรคคนงาน (Workers Party) ที่เป็นฝ่ายซ้าย

“กาซา … ไม่ใช่เรื่องทางการเมือง แต่เป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน” ซัดดีก ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตโอลด์แฮมตะวันออกและแซดเดิลเวิร์ธ ทางตอนเหนือของแมนเชสเตอร์ กล่าวกับทางสำนักข่าวรอยเตอร์

“พวกเราไม่ขอโทษที่เราเป็นพรรคที่สนับสนุนกาซา” ซัดดีกกล่าว

ทั้งนี้ แคมเปญ “คะแนนเสียงมุสลิม” แนะนำให้โหวตเตอร์เลือกผู้สมัครที่สนับสนุนปาเลสไตน์ ซึ่งลงสมัครในฐานะผู้สมัครอิสระหรือจากพรรคเล็ก ๆ เช่น พรรคคนงาน ซึ่งส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง 152 คน รวมถึงซัดดีก

ด้านนายจอร์จ กัลโลเวย์ ผู้นำพรรคคนงานที่มักวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา เพิ่งชนะการเลือกตั้งซ่อมในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา สำหรับเก้าอี้สส.ที่ว่างลงในเขตโรชเดล ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ติดกับโอลด์แฮม และมีประชากรชาวมุสลิมจำนวนมากเช่นกัน โดยชัยชนะครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่พรรคแรงงาน (Labour Party) ได้ถอนการสนับสนุนผู้สมัครของตนเอง เนื่องจากมีคลิปเสียงที่ผู้สมัครคนดังกล่าวพูดถึงทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับอิสราเอล

ทั้งพรรคแรงงานซึ่งกำลังกลับมาได้รับความนิยม และพรรคอนุรักษนิยม (Conservatives) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ต่างก็ออกมาประกาศว่าต้องการให้การสู้รบในฉนวนกาซายุติลง แต่ในขณะเดียวกันทั้ง 2 พรรคก็สนับสนุนสิทธิของอิสราเอลในการป้องกันตนเอง จุดยืนเช่นนี้สร้างความไม่พอใจให้กับชาวมุสลิมบางส่วนจากจำนวนประชากรมุสลิม 3.9 ล้านคน หรือคิดเป็น 6.5% ของประชากรทั้งประเทศ

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีผู้สมัครอิสระมากกว่าการเลือกตั้งครั้งที่แล้วในปี 2562 ถึงประมาณ 230 คน โดยข้อมูลของโซฟี สโตเวอร์ส จากสถาบันวิจัย UK in a Changing Europe ระบุว่า ในพื้นที่ที่มีโหวตเตอร์ชาวมุสลิมอาศัยอยู่หนาแน่น ผู้สมัครอิสระหลายคนต่างก็ใช้นโยบายสนับสนุนปาเลสไตน์เป็นจุดขายในการหาเสียง

พรรคการเมืองที่น่าจะเสียคะแนนเสียงจากโหวตเตอร์ชาวมุสลิมมากที่สุดคือ พรรคแรงงานของเซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์ ซึ่งแม้ว่าจะยังคงเป็นตัวเต็งที่จะชนะการเลือกตั้ง แต่ก็เป็นพรรคที่พึ่งพาเสียงสนับสนุนจากชาวมุสลิมและคนชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ มาโดยตลอด

พรรคแรงงานภายใต้การนำของเซอร์ สตาร์เมอร์ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักและเสี่ยงที่จะสูญเสียคะแนนเสียง เนื่องจากพรรคเพิ่งจะค่อย ๆ ออกมาเรียกร้องให้มีการหยุดยิงในกาซา แม้ว่าพรรคจะให้คำมั่นว่าจะรับรองการมีอยู่ของรัฐปาเลสไตน์ แต่ก็ยังไม่ได้กำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนว่าจะทำเมื่อไร

ผลสำรวจของซาวันตา (Savanta) เมื่อเดือนที่แล้ว พบว่า ชาวมุสลิม 44% ที่จัดอันดับให้ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์เป็น 1 ใน 5 ประเด็นสำคัญที่สุด พิจารณาที่จะสนับสนุนผู้สมัครอิสระที่รณรงค์หาเสียงในประเด็นนี้

“ในการเลือกตั้งปีนี้ ฉันจะเลือกผู้สมัครอิสระ เพราะฉันไม่คิดว่าทั้งรัฐบาลพรรคทอรี่ (อนุรักษนิยม) หรือรัฐบาลพรรคแรงงาน จะให้คำมั่นสัญญาหรือทำอะไรที่สอดคล้องกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของฉันได้” ป๊อปปี้ ยูซาฟ ชาวเมืองโอลด์แฮม กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top