SAMART แพ้คดีเอเชี่ยนเกมส์ต้องชดใช้กว่า 718 ลบ.จ่อตั้งสำรองเพิ่ม 280 ลบ.Q2/67 พร้อมเจรจาผ่อนจ่ายดอก

บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น (SAMART) จ่ายเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยบางส่วนแล้ว 230 ล้านบาท (เงินต้น 190 ล้านบาท ดอกเบี้ย 40 ล้านบาท) ชดเชยให้แก่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 13 (BAGOC) หลังจากศาลฎีกาให้บริษัทต้องชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยกว่า 718.69 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินต้น 190 ล้านบาท และดอกเบี้ยราว 528.69 ล้านบาท โดยดอกเบี้ยที่เหลือนั้นอยู่ในระหว่างการเจรจาเพื่อผ่อนชำระระยะยาว โดยบริษัทเสนอผ่อนชำระเป็นงวดรายปีภายในเวลา 7 ปี

ที่ผ่านมาบริษัท ได้มีการตั้งสำรองไปแล้วส่วนใหญ่ โดย ณ 31 มี.ค.67 มีการบันทึกประมาณการหนี้สินระยะยาวสำหรับข้อพิพาททางกฎหมายไปแล้วรวมเป็นจำนวน 438.47 ล้านบาท และมีการตั้งประมาณการหนี้สินระยะยาวดังกล่าวเพิ่มเติมในไตรมาส 2/67 อีกประมาณ 280 ล้านบาท ทั้งนี้ แหล่งเงินทุนที่จะมาชำระหนี้ส่วนที่เหลือจะมาจากสภาพคล่องและกระแสเงินสดในการดำเนินธุรกิจโดยรวมของบริษัท ซึ่งบริษัทเชื่อมั่นว่าเหตุการณ์นี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินและการดำเนินงานของบริษัทฯ

คดีดังกล่าว BAGOC และ กกท.ซึ่งได้จัดการแข่งขันดีกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 13 ขึ้นในปี 2540 ซึ่ง SAMART ร่วมเป็นผู้สนับสนุนการแข่งขัน ครอบคลุมการติดตั้งระบบอุปกรณ์โทรคมนาคม และการสนับสนุนด้านการเงิน แต่เนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจรุนแรงในปี 2540 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ทำให้บริษัทไม่สามารถให้การสนับสนุนต่อได้ จนนำมาสู่การฟ้องร้องและผลการตัดสินของศาลฎีกา

“ที่ผ่านมาบริษัทได้เตรียมการเพื่อรับมือกับกรณีพิพาทดังกล่าวไว้แล้วอย่างรอบคอบ โดยได้มีการตั้งสำรองและบันทึกประมาณการหนี้สินระยะยาวไว้แล้วจำนวน 400 กว่าล้านบาท ประกอบกับบริษัทมีรายได้ประจำที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคง ผมจึงมั่นใจว่าเหตุการณ์นี้จะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อสถานะการเงินและการดำเนินงานของบริษัท รวมทั้งการผ่อนชำระหนี้ดังกล่าว”นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกลยุทธ์องค์กร และพัฒนาธุรกิจใหม่ SAMART กล่าว

ยิ่งไปกว่านั้น ในปี 67 บริษัทยังมั่นใจว่าผลประกอบการของธุรกิจโดยรวมจะสูงขึ้นกว่าปีก่อนอย่างแน่นอน ด้วยปัจจัยบวกต่อการเติบโตของทุกสายธุรกิจในกลุ่ม เช่น สายธุรกิจไอซีที ภายใต้ บมจ.สามารถเทลคอม (SAMTEL) ปีนี้คาดว่าจะมีมูลค่างานในมือทะลุ 10,000 ล้านบาท ด้วยการเซ็นสัญญาโครงการใหญ่ในช่วงครึ่งปีหลัง

ส่วนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน โดยบมจ.สามารถเอวิเอชั่น (SAV) นอกจากจะมีการเติบโตของธุรกิจศูนย์ควบคุมการจราจรทางอากาศที่ประเทศกัมพูชาแล้ว SAV ยังจ่อขยายธุรกิจบริการภายในสนามบินทั้งในและต่างประเทศ ให้ครอบคลุมและครบวงจรมากยิ่งขึ้น เพื่อเสริมสร้างรายได้ประจำให้แข็งแกร่ง ที่สำคัญ บริษัทกำลังเร่งเครื่องโครงการที่ สปป.ลาว เพื่อให้เกิดความชัดเจนและคืบหน้าโดยเร็ว

“ด้วยประสบการณ์ในการผ่านวิกฤตต่างๆ มาแล้วมากมาย บริษัทสามารถจึงดำเนินธุรกิจด้วยความไม่ประมาท และให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างรอบด้าน ดังนั้น จึงขอให้ความเชื่อมั่นว่า กลุ่มบริษัทสามารถจะเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืนและจะมุ่งมั่นในการคว้าทุกโอกาสทางธุรกิจเพื่อสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่คุ้มค่า” นายวัฒน์ชัย กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.ค. 67)

Tags: , , , ,
Back to Top